ครม.เห็นชอบแผนจัดการมลพิษ 5 ปี (55-59) ยึดหลักผู้ก่อมลพิษรับผิดชอบค่าใช้จ่าย

ข่าวทั่วไป Tuesday March 20, 2012 13:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนจัดการมลพิษ พ.ศ. 2555 — 2559 เพื่อให้ทุกภาคส่วนใช้เป็นกรอบและแนวทางในการจัดการมลพิษของประเทศไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า และมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนจัดการมลพิษ พ.ศ. 2555 — 2559 ไปสู่การปฏิบัติต่อไป ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ

ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษในฐานะหน่วยงานหลักในการเสนอนโยบายและมาตรการเกี่ยวกับการจัดการมลพิษของประเทศได้จัดทำแผนจัดการมลพิษ พ.ศ. 2555 — 2559 ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดกรอบแนวคิดและทิศทางการจัดการมลพิษของประเทศไทยในอีก 5 ปี ข้างหน้า (พ.ศ. 2555 - 2559) ที่มีความเชื่อมโยงกับแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2555 — 2559 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 - 2559) เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพทันต่อสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกและสร้างเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดการมลพิษของประเทศที่มีการกำหนดเป้าหมาย ทิศทาง และผลักดันการดำเนินการให้เกิดผลร่วมกัน โดยมีเป้าหมายให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมดีขึ้นและอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดไว้

โดยกรอบแนวคิดของแผนจัดการมลพิษ พ.ศ. 2555 — 2559 มีสาระสำคัญ 1.เพื่อลดและควบคุมการระบายมลพิษอันเนื่องมาจากชุมชนเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ยานพาหนะ และการคมนาคมขนส่ง โดยให้มีการจัดการมลพิษตั้งแต่ต้นทาง ระหว่างทาง จนถึงปลายทาง และให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่การกำกับ ติดตาม ส่งเสริม และสนับสนุนให้แหล่งกำเนิดมลพิษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการในการจัดการสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐานหรือเกณฑ์ที่กำหนด รวมทั้งดำเนินการเปิดเผยและเข้าถึงข้อมูลแหล่งกำเนิดมลพิษและผลกระทบที่เกิดขึ้น

2.จัดการมลพิษในระบบพื้นที่ตามลำดับความสำคัญของปัญหา เช่น พื้นที่ลุ่มน้ำในการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในพื้นที่วิกฤต กลุ่มจังหวัดที่ประสบปัญหาหมอกควันและไฟป่าเขตควบคุมมลพิษ พื้นที่ปนเปื้อนมลพิษ พื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ พื้นที่ที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ เป็นต้น

3.สนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินงานจัดการน้ำเสีย ขยะมูลฝอย มูลฝอยติดเชื้อและของเสียอันตรายชุมชน ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีการจัดการขยะอันตรายและสารอันตรายอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งจัดให้มีระบบป้องกันและเตรียมความพร้อมรองรับกรณีเหตุฉุกเฉินหรืออุบัติภัยและการคมนาคมขนส่งที่ก่อให้เกิดการรั่วไหลของสารเคมีหรือสารอันตรายต่าง ๆ

4.ประยุกต์ใช้หลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย (Polluter Pays Principle, PPP) การวางหลักประกันและการชดเชยค่าเสียหายจากการแพร่กระจายมลพิษ การนำมาตรการทางเศรษฐศาสตร์และสังคมเป็นแรงจูงใจทางบวกเพื่อส่งเสริมการลดมลพิษหรือปรับปรุงกระบวนการผลิตที่ปราศจากมลพิษ การสนับสนุนการผลิตและการบริการ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคของประชาชนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

5.พัฒนาระบบการบริหารจัดการมลพิษให้เกิดเป็นเอกภาพทั้งทางด้านกฎหมาย กฎระเบียบ แผน และแนวทางปฏิบัติของแต่ละหน่วยงาน โดยประสานความร่วมมือในการจัดการมลพิษทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และประชาชน

6.ส่งเสริมให้ภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา โดยรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และเข้ามาร่วมดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ