นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ปัญหาไฟป่าและหมอกควันทางภาคเหนือได้กลับมารุนแรงมากขึ้นอีกครั้งในช่วง 1-2 วันนี้ โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงรายและแม่ฮ่องสอน โดยสามารถวัดปริมาณ ค่าหมอกควันได้เกิน 200 ไมโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยบางจังหวัดมีปริมาณสูงถึง 300-400 ไมโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินกว่าค่ามาตรฐานที่ปลอดภัย จึงได้สั่งการให้สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร เร่งตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันดังกล่าว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเครื่องบินฝนหลวงได้ออกปฏิบัติการในภารกิจนี้มาตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ. 55 และยังคงปฏิบัติการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยได้ใช้เทคนิคที่เรียกว่า การสร้างหลุมดำ ซึ่งเป็นเทคนิคพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร่วมกับการทำฝนหลวง ซึ่งที่ผ่านมาสามารถลดปริมาณฝุ่นละอองและบรรเทาหมอกควันได้อย่างดีจนสภาพอากาศในหลายจังหวัดได้เข้าสู่ภาวะปรกติแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ แนวทางการแก้ปัญหาหมอกควันทางภาคเหนืออย่างยั่งยืนทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันรณรงค์ประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ความรู้กับประชาชนถึงพิษภัย ที่เกิดขึ้นจากการเผาป่าหรือการเผาพืชไร่ทางการเกษตร ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาฝุ่นละอองและหมอกควันที่เกิดขึ้นในขณะนี้ การทำฝนหลวงจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น
ด้านนายวราวุธ ขันติยานันท์ ผู้อำนวยการสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ส่วนใหญ่ปัญหาหมอกควันในประเทศไทยจะเกิดขึ้นช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายนของทุกปี เนื่องจากสภาวะอากาศ ไฟป่าและการเผาทำลายในพื้นที่การเกษตร รวมทั้งกรณีไฟป่าจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเมื่อเข้าสู่เดือนเมษายนของทุกปีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากประเทศจีนจะเริ่มพัดเข้าสู่ประเทศไทยทำให้เกิดฝนตกมาก อากาศที่ถูก ปกคลุมจากหมอกควันจะบรรเทาลง
ทั้งนี้ ปัญหาหมอกควันหากไม่ได้รับการแก้ไขนอกจากจะส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภัยแล้งด้วย