รมว.เกษตรฯ สั่งปรับแผนปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่ม ลดปัญหาหมอกควันภาคเหนือ

ข่าวทั่วไป Wednesday March 21, 2012 13:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประชุมหารือร่วมกับเพื่อเร่งดำเนินการคลี่คลายปัญหาไฟป่าและหมอกควันที่เกิดขึ้นทางภาคเหนือ ซึ่งสถานการณ์ได้กลับมารุนแรงมากขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงรายและแม่ฮ่องสอน ที่ข้อมูลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือของกรมควบคุมมลพิษ

ล่าสุดในวันนี้พบปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าระหว่าง 111.0 — 441.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับปานกลางถึงอันตราย ปริมาณฝุ่นละอองเพิ่มสูงขึ้นจนเกินเกณฑ์มาตรฐานเกือบทุกจังหวัด จึงได้สั่งการให้สำนักฝนหลวงและการบินเกษตรปรับแผนปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับสถานการณ์ จากเดิมที่มีหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่เชียงใหม่ เครื่องบินจำนวน 3 ลำ เช่น การเพิ่มฐานปฏิบัติการ และการเพิ่มจำนวนเครื่องบินที่จะขึ้นบินปฏิบัติการ เป็นต้น

จากการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง ของสำนักฝนหลวงฯ ที่ได้ออกปฏิบัติการเพื่อลดปัญหาไฟป่าและหมอกควันตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยได้ใช้เทคนิคที่เรียกว่า การสร้างหลุมดำ ซึ่งเป็นเทคนิคพระราชทานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร่วมกับการทำฝนหลวง ซึ่งแม้ว่าความชื้นสัมพัทธ์จะไม่เอื้ออำนวยการต่อการทำฝน แต่ที่ผ่านมาก็สามารถลดปริมาณฝุ่นละอองและบรรเทาหมอกควันได้อย่างดี จนสภาพอากาศในหลายจังหวัดได้เข้าสู่ภาวะปกติขณะเดียวกัน นอกจากการปฏิบัติการฝนหลวงซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการแล้ว ต้องอาศัยความร่วมมือในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ความรู้กับประชาชนถึงพิษภัยที่เกิดขึ้นจากการเผาป่าหรือการเผาพืชไร่ทางการเกษตร รวมถึงการหาแนวทางลดการเผาป่าในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่จะยังคงพบการเผาอยู่ในอีกหลายจุดในขณะนี้ด้วย

ส่วนแผนการบริหารจัดการน้ำในขณะนี้นั้น รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการประชุมหารือเพื่อติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณาทบทวนและปรับแผนการเก็บกักและระบายน้ำในการป้องกันปัญหาอุทกภัย และภัยแล้งให้มีความเหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น 2 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ที่ขณะนี้ได้มีการปรับแผนการระบายน้ำ ณ วันที่ 1 เมษายน 2555 ให้ปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย 59 % จากเดิมอยู่ที่ 58 % และปริมาณน้ำเก็บกัก ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2555 ทั้งสองเขื่อนหลักอยู่ที่ 55% จากแผนเดิมที่ 45 % โดยปริมาณการระบายน้ำของเขื่อนภูมิพลจากที่เคยระบายออกวันละ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร ลดลงเหลือ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์ระบายออกวันละ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร จากเดิมวันละ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ