กรมชลฯ เผยลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพาะปลูกพืชฤดูแล้งเต็มพื้นที่แล้ว

ข่าวทั่วไป Tuesday March 27, 2012 16:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน เปิดเผยผลการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งทั่วประเทศ ณ 27 มี.ค. 55 ว่า ผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตพื้นที่ชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(ณ 23 มี.ค. 55) พบว่ามีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งไปแล้วกว่า 9.98 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 100 ของแผนทั้งหมด(แผนกำหนดไว้ 10 ล้านไร่) แยกเป็นพื้นที่ทำนาปรัง 9.57 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 100 ของแผน(แผนกำหนดไว้ 9.60 ล้านไร่) และพืชไร่-พืชผัก 0.41 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 103 ของแผน(แผนกำหนดไว้ 0.40 ล้านไร่)

ขณะนี้มีการนำน้ำไปใช้แล้ว 27,336 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 86 ของแผนจัดสรรน้ำ คงเหลือปริมาณที่ใช้ได้ตามแผนประมาณ 4,564 ล้านลูกบาศก์เมตร เฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการนำน้ำไปใช้แล้ว 12,678 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 96 ของแผนจัดสรรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา คงเหลือปริมาณที่สามารถนำมาใช้ได้ตามแผนการจัดสรรน้ำในฤดูแล้ง 2554/2555 อีกประมาณ 542 ล้านลูกบาศก์เมตร

สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนหลักที่ต้องส่งน้ำไปสนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีดังนี้ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 7,972 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 4,172 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 5,675 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 60 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,825 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 277 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 29 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 234 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 340 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 43 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 337 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้กำหนดแผนการใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ จำนวนทั้งสิ้น 13,220 ล้านลูกบาศก์เมตร แยกเป็น เพื่อการอุปโภค-บริโภค 1,100 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 8 ของแผน เพื่อการรักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 3,660 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 28 ของแผน และเพื่อการเกษตร 8,460 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 64 ของแผน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ