น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือของ 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ ประกอบด้วยกองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการพัฒนาระบบการรักษาพยาบาลเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพแก่ประชาชนไทยทุกคนให้ได้รับบริการสุขภาพที่มีคุณภาพมาตรฐาน สะดวก รวดเร็ว เท่าเทียมกันตามนโยบายรัฐบาล
พร้อมกับลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐกับหน่วยให้บริการทั้งภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ในการพัฒนาระบบบริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งจะเริ่มให้บริการประชาชนพร้อมกันทั่วประเทศ ภายใต้นโยบายเดียวกันคือ "เจ็บป่วยฉุกเฉิน ถึงแก่ชีวิต ไม่ถูกถามสิทธิ์ รักษาทันที ทุกที่ทุกคน" ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.55 เป็นต้นไป โดยมีนายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข, นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ร่วมเป็นสักขีพยาน
สาระสำคัญความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุนฯ ได้แก่ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง สำนักงานประกันสังคม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะร่วมกันพัฒนา 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.พัฒนาสิทธิประโยชน์ ทั้งด้านบริการสาธารณสุข และสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่ประชาชนจะได้รับ เริ่มจากระบบการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินให้สามารถเข้ารับบริการได้อย่างเท่าเทียมกัน รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ และขยายไปยังบริการอื่นๆตามความจำเป็นต่อไป
2.พัฒนาระบบบริหารจัดการให้มีความเป็นเอกภาพ เพิ่มประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์ต่อระบบในภาพรวม ทั้งการบริหารจัดการเรื่องยา ระบบสำนักงานหักบัญชี ระบบการตรวจสอบและควบคุมกำกับการชดเชยค่าบริการและคุณภาพการรักษาพยาบาล การกำหนดหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนและมาตรฐานสถานพยาบาล การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศและมาตรฐานชุดข้อมูลต่างๆ
3.พัฒนาระบบการจ่ายเงินค่าบริการให้หน่วยบริการ/สถานพยาบาล เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในระยะยาว เน้นการกำหนดวิธีการจ่ายชดเชยค่าบริการให้หน่วยบริการ/สถานพยาบาล การแลกเปลี่ยนข้อมูลการเบิกจ่ายค่าบริการ กำหนดอัตราจ่ายสำหรับบริการเฉพาะบางรายการ เช่น บริการหรือเทคโนโลยีที่มีราคาสูงหรือบริการใหม่ๆ
สำหรับบันทึกข้อตกลงระหว่าง 3 กองทุนกับหน่วยให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน มีสาระสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1.ร่วมกันให้บริการและพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน เพื่อให้ประชาชนไทยทุกคนได้รับบริการอย่างรวดเร็ว มีคุณภาพมาตรฐาน และมีความเท่าเทียมกันในทุกสิทธิ เพื่อให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยและลดการเสียชีวิตหรือความพิการ 2.พัฒนาระบบข้อมูลการให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉิน เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของระบบบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน 3.พัฒนาระบบการเบิกจ่ายชดเชยและตรวจสอบค่าบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ไม่เป็นภาระแก่ผู้ป่วยฉุกเฉินเกิดความรวดเร็ว และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และ 4.พัฒนาระบบบริการอื่นๆ เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและระบบบริการในภาพรวมต่อไป
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีโนบายในการพัฒนาระบบประกันสุขภาพ เพิ่มประสิทธิภาพของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับบริการอย่างมีคุณภาพ สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม รวมทั้งบูรณาการสิทธิของผู้ป่วยที่พึงได้รับจากระบบประกันสุขภาพต่างๆ และแผนงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องไปแนวทางเดียวกัน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุนฯ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
ทั้งนี้ จะเริ่มจากการให้บริการผู้ป่วยเจ็บป่วยฉุกเฉินเป็นกรณีแรก ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.55 นี้ โดยต่อไปผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินทุกคนสามารถเข้ารับบริการในโรงพยาบาลทุกแห่งที่อยู่ใกล้ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนได้ทันที โดยไม่ถูกถามสิทธิ ไม่ต้องสำรองจ่ายเงินล่วงหน้า ให้การดูแลจนกว่าอาการจะปลอดภัย และหากมีความจำเป็นจะได้รับการส่งต่อไปรักษาในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงขึ้น เนื่องจากการได้รับอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน เป็นสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิต หากได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว จะช่วยให้รอดชีวิตหรือลดความพิการลงได้
"ขอย้ำว่า หลักการและเจตนารมณ์ของรัฐบาล คือเน้นสร้างความเสมอภาคทั้ง 3 กองทุน ไม่ได้รวม 3 กองทุนเข้าด้วยกัน และประชาชนไทยทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในระบบประกันสุขภาพใด ทั้งระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ประกันสังคม ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และพ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ ต้องได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม และได้รับบริการที่มีคุณภาพตามความจำเป็น ซึ่งดิฉันมีความมุ่งมั่นที่จะสานต่อนโยบายการประกันสุขภาพให้มีความยั่งยืน พัฒนาคุณภาพการให้บริการอย่างต่อเนื่อง สร้างความเสมอภาคและความเป็นเอกภาพของระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย เน้นการบริหารจัดการร่วมกันหรือเป็นแนวทางเดียวกัน เพื่อลดความซ้ำซ้อน ภายใต้หลักการพื้นฐานเดียวกัน คือ ไม่เหลื่อมล้ำ และไม่แตกต่างกัน" นายกรัฐมนตรี กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเปลี่ยนผ่านระยะแรกนี้ อาจมีปัญหาอุปสรรคบ้าง โดยได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันติดตามแก้ไขปัญหาให้ระบบดำเนินไปอย่างคล่องตัว และจะมีการประเมินผลหลังจากดำเนินงานไประยะหนึ่ง เพื่อปรับปรุงให้ระบบริการมีความราบรื่น