In Focus"นุกป่วนโลก"... เมื่อโสมแดงประกาศศักดาทายาทรุ่นที่ 3

ข่าวต่างประเทศ Wednesday April 4, 2012 13:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หลังจากที่ประชาคมโลกปวดเศียรเวียนเกล้ากับประเด็นโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านอยู่พักใหญ่ ก็ต้องอกสั่นขวัญแขวนอีกครั้งเมื่อเกาหลีเหนือประกาศแผนปล่อยจรวดส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรระหว่างวันที่ 12-16 เม.ย.นี้ เพื่อเฉลิมฉลอง 100 ปีชาตกาลของอดีตประธานาธิบดีคิม อิลซุง ผู้ก่อตั้งเกาหลีเหนือ ท่ามกลางเสียงประณามของนานาชาติโดยเฉพาะชาติบ้านใกล้เรือนเคียง เนื่องจากวิตกว่า การส่งดาวเทียมที่ว่านี้แท้จริงแล้วคือการแอบสอดไส้ทดสอบยิงขีปนาวุธพิสัยไกลนั่นเอง

สถานการณ์คาบสมุทรเกาหลีทวีความตึงเครียดขึ้นทุกขณะ เมื่อล่าสุดกองทัพเกาหลีใต้เปิดเผยว่า รัฐบาลเปียงยางเปิดฉากทดสอบยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้พัฒนาขึ้นใหม่แบบพื้นสู่เรือจำนวน 2 ลูกบริเวณนอกชายฝั่งด้านตะวันตกเมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 29 มี.ค. นัยว่าเป็นปฐมฤกษ์ขู่ขวัญบรรดาชาติมหาอำนาจก่อนกำหนดยิงจรวดที่อ้างว่าเป็นดาวเทียมอย่างเป็นทางการ ขณะที่ประเทศต่างๆ กระทั่งพันธมิตรอันเหนียวแน่นอย่างจีน ก็ออกข่าวอยู่ทุกวันเรียกร้องให้ล้มเลิกแผนการเขย่าโลกครั้งนี้

* โสมแดงกับความพยายามที่ไม่สิ้นสุด

ขีปนาวุธที่เกาหลีเหนือ และบางประเทศในแถบตะวันออกกลาง อาทิ อิหร่าน อิรัก ซีเรีย และปากีสถาน ได้พัฒนาขึ้น และอ้างว่า เป็นไปเพื่อสร้างความมั่นคงด้านการทหารนั้น สามารถจำแนกได้หลายประเภท โดยแต่ละประเภทมีอานุภาพที่แตกต่างกันซึ่งก็ขึ้นอยู่กับพิกัดของเป้าหมาย รัศมีการทำลายล้าง และความรุนแรงของหัวรบที่เลือกใช้ (warhead) นอกจากนี้ ในการยิงขีปนาวุธแต่ละครั้ง ยังสามารถเลือกยิงได้จากฐานยิงขีปนาวุธภาคพื้นดิน จากฐานยิงบนเรือ หรือจากเครื่องบิน ขีปนาวุธที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาใหม่ในปัจจุบันถือว่า มีความแม่นยำสูงในการโจมตีเป้าหมายในระยะไกลและข้ามทวีป นอกจากเกาหลีเหนือจะพัฒนาขีปนาวุธของตนเองอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและจัดส่งวัตถุดิบให้กับประเทศในแถบตะวันออกกลางอีกด้วย

ขีปนาวุธติดหัวรบ (ballistic missile) สามารถแบ่งตามประเภทการใช้งานได้ 3 ประเภท คือ ขีปนาวุธทางยุทธวิธี (tactical missile) ขีปนาวุธทางยุทธบริเวณ (theatre missile) และขีปนาวุธทางยุทธศาสตร์ (strategic missile) โดยขีปนาวุธติดหัวรบพิสัยไกล (long-range ballistic missile) ที่นานาชาติกำลังพูดถึงนั้นจัดอยู่ในประเภทขีปนาวุธทางยุทธศาสตร์ ซึ่งยังแบ่งย่อยได้เป็นขีปนาวุธติดหัวรบพิสัยไกลไม่เกิน 5,500 กิโลเมตร (intermediate-range ballistic missile) และขีปนาวุธติดหัวรบข้ามทวีป (intercontinental ballistic missile)

เกาหลีเหนือได้ครอบครองขีปนาวุธทางยุทธวิธี ซึ่งได้มาจากอดีตสหภาพโซเวียตเมื่อปี 1969 และต่อมาก็ได้รับมอบจรวดสกั๊ด-บี จากอียิปต์เป็นการตอบแทนที่ช่วยเหลือในการรับมือกับอิสราเอล จุดเริ่มต้นนี้เองที่ทำให้รัฐบาลเปียงยางเดินหน้าคิดค้นพัฒนาเขี้ยวเล็บของตัวเองตั้งแต่จรวดธรรมดาๆ ขีปนาวุธพิสัยใกล้ พิสัยกลาง ไปจนถึงพิสัยไกลที่หวังว่าจะยิงได้ไกลกว่า 15,000 กิโลเมตร เรียกได้ว่าระดับข้ามทวีป

ตามข้อมูลล่าสุด ขีปนาวุธพิสัยไกลที่เกาหลีเหนือเผยโฉมออกสู่สายตาชาวโลกคือ Taepodong-2 ซึ่งทำการทดสอบไปทั้งสิ้น 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี 2549 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากขีปนาวุธเกิดปัญหาระเบิดกลางอากาศ หลังจากปล่อยจากฐานยิงเพียงไม่กี่วินาที ส่วนครั้งที่สองเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 เม.ย. ปี 2552 โดยอ้างว่าเป็น Taepodong-2 โฉมใหม่ที่มีอานุภาพยิงได้ไกลถึง 15,000 กิโลเมตร ทว่าทางการสหรัฐเผยว่า Taepodong-2 ไปไม่ถึงฝั่งฝันเพราะส่วนหนึ่งร่วงลงสู่ทะเลญี่ปุ่น ขณะที่อีกส่วนหนึ่งรวมถึงหัวรบนั้นจมลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก

ช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมานั้น มีข่าวออกมาเป็นระยะๆ ว่า เกาหลีเหนือพัฒนาเทคโนโลยีขีปนาวุธให้มีความก้าวหน้ามากยื่งขึ้น โดยในเดือนม.ค.ปีที่แล้ว นายโรเบิร์ต เกตส์ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ กล่าวเตือนว่า ภายใน 5 ปีนี้ เกาหลีเหนือจะสามารถพัฒนาอาวุธที่มีอานุภาพเดินทางไกลข้ามทวีปไปถึงสหรัฐอเมริกา ขณะที่เดือนต่อมา สื่อสหรัฐก็เผยแพร่ภาพถ่ายทางดาวเทียมที่ระบุว่า เป็นฐานปล่อยขีปนาวุธแห่งใหม่ของเกาหลีเหนือ โดยตั้งอยู่ในพื้นที่ตะวันตกเฉียงเหนือ และล่าสุดกลางเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา เกาหลีเหนือได้ยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้ราว 75 กิโลเมตรจำนวน 2 ลูก ทางชายฝั่งตะวันออก หลังจากการเสียชีวิตของประธานาธิบดีคิม จองอิล

* โลกหวั่นจรวดสอดไส้นุก

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของรัฐบาลเปียงยางที่เขย่าขวัญชาวโลกคือ การยืนยันแผนปล่อยจรวดเพื่อนำดาวเทียมกวางเมียงซอง-3 ขึ้นสู่วงโคจรระหว่างวันที่ 12-16 เม.ย. ในโอกาสครบรอบ 100 ปีชาตกาลของอดีตประธานาธิบดีคิม อิลซุง ซึ่งตรงกับวันที่ 15 เม.ย. โดยไม่สนเสียงห้ามปรามและประณามของนานาชาติที่ชี้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ โดยเกาหลีเหนือได้ประกาศถอนตัวจากสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Non-Proliferation Treaty) เมื่อปี 2003 และปฏิเสธที่จะเข้าร่วมประชุมในการเจรจาเพื่อหยุดยั้งการขยายโครงการนิวเคลียร์

เกาหลีเหนือยืนยันเสียงแข็งว่า การปล่อยจรวดส่งดาวเทียมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสันติ พร้อมระบุว่า เป็นสิทธิอันชอบธรรมตามอำนาจอธิปไตย และมีความจำเป็นสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แม้ว่าการส่งดาวเทียมสู่วงโคจรเป็นเรื่องที่ชาติไหนๆ เขาก็ทำกัน แต่ประเด็นอยู่ตรงที่เป็น “เกาหลีเหนือ" ชาติที่ตีคู่มากับอิหร่านในการถูกเพ่งเล็งจากนานาชาติเรื่องการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์

ดาวเทียมดังกล่าวมีน้ำหนัก 100 กิโลกรัม มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจผืนป่า ทรัพยากรธรรมชาติ และสภาพอากาศ จะลอยเท้งเต้งอยู่ในวงโคจรราว 2 ปี และสามารถส่งภาพถ่ายดาวเทียมกลับมายังฐานปฏิบัติการบนโลกได้ เพื่อความโปร่งใสไร้ข้อกังขา ทางการเกาหลีเหนือจึงประกาศเชิญบรรดาผู้สังเกตการณ์และสื่อมวลชนต่างชาติเข้าไปสำรวจฐานปล่อยจรวด และเป็นสักขีพยานในการปล่อยจรวดที่ศูนย์บังคับการในกรุงเปียงยางด้วย แต่เอาเข้าจริงก็ไม่รู้ว่า จะมีเงื่อนไขข้อจำกัดอะไรบ้าง เพราะใครๆ ก็รู้ว่า เกาหลีเหนือไม่เคยปล่อยให้คนนอกเข้าไปป้วนเปี้ยนในอาณาจักรของตัวเองง่ายๆ ดังนั้น จึงไม่แปลกหากโลกจะรู้เรื่องของเกาหลีเหนือน้อยมาก และไม่เคยปักใจเชื่อในสิ่งที่ผู้นำป่าวประกาศหรือให้คำมั่นกับประชาคมโลก

ข้อมูลของ 2011 IISS Strategic Dossier on North Korean Security Challenges ระบุว่า จรวดส่งดาวเทียมสู่วงโคจรกับขีปนาวุธติดหัวรบมีรูปร่างลักษณะเหมือนกัน ระบบขับเคลื่อนหรือเครื่องยนต์กลไกแบบเดียวกัน อาศัยฐานการยิงเหมือนกัน รวมถึงมีขั้นตอนการพัฒนาบางอย่างที่ใช้ร่วมกันได้ ความแตกต่างอยู่ตรงที่ดาวเทียมปล่อยไปแล้วก็ลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศ ส่วนขีปนาวุธ เมื่อยิงขึ้นฟ้าไปแล้ว ก็จะวกกลับลงมาสู่เป้าหมายภาคพื้นดิน โดยระหว่างทางที่กลับลงมานั้น ยังอยู่ในสภาพที่พร้อมทำลายล้างได้อย่างสมบูรณ์

การปล่อยดาวเทียมแต่ละครั้งจะแสดงให้เห็นถึงขอบเขตการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของชาตินั้นๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากแผนการส่งดาวเทียมครั้งนี้จะถูกมองว่า มีนัยแอบแฝง ขณะที่เพนตากอนชี้ว่า หากสิ่งที่เกาหลีเหนือจะปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้านั้นเป็นมัจจุราชที่ชาวโลกหวั่นวิตกอยู่จริง ชาติที่เข้าข่ายจะได้รับผลกระทบไม่ใช่แค่เกาหลีใต้กับญี่ปุ่น แต่หมายรวมถึงฟิลิปปินส์กับอินโดนีเซีย เนื่องจากวิถีของจรวดนั้นอาจมุ่งหน้าลงมาทางทิศใต้ เมื่อครั้งที่ทดลอง Taepodong-2 รุ่นปรับโฉม เกาหลีเหนือก็อ้างเช่นกันว่า เป็นการส่งดาวเทียม มาคราวนี้แม้จะอ้างความชอบธรรมใดๆ ก็ไม่มีใครทำใจเชื่อได้ลง

* ประกาศศักดาทายาทรุ่นที่ 3

การรับไม้ต่อจากอดีตผู้นำคิม จองอิล ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับทายาทรุ่น 3 อย่างคิม จองอึน วัยเพิ่งแตะ 30 ผู้ซึ่งถูกตราหน้าว่า ไร้ฝีมือ ขาดประสบการณ์ และเป็นได้แค่หุ่นเชิดของกองทัพที่ยังซึมซับบารมีของคิมผู้พ่อที่ล่วงลับไว้อย่างเต็มเปี่ยม แม้กระทั่งคิม จองนัม พี่ชายของตัวเองยังอดไม่ได้ที่จะวิจารณ์ว่า อาณาจักรเปียงยางคงถึงกาลล่มสลายในคราวนี้เป็นแน่แท้ หากถูกปกครองโดยผู้นำที่ไร้ศักยภาพอย่างน้องชายคนสุดท้องของเขา

แม้ใครหลายคนจะมองว่า สภาวะอ่อนแอ ไร้ประสบการณ์ของคิม จองอึน อาจนำไปสู่ท่าทีที่อ่อนลงในเวทีโลก แต่ไม่มีใครบอกได้ว่า แท้จริงแล้ว ทายาทตระกูลคิมผู้นี้มีอุปนิสัยและพฤติกรรมอย่างไรกันแน่ เพราะข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยนั้นมีน้อยมาก เน้นไปทางประวัติการศึกษาของเขาเป็นหลัก เช่นล่าสุดอดีตเพื่อนร่วมชั้นเผยว่า ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือเรียนหนังสือเข้าขั้นห่วย ส่วนบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างญี่ปุ่นและจีนเพียรพยายามอยู่หลายปีมาก กว่าจะค้นเจอรูปถ่ายของทายาทตระกูลคิมผู้นี้ แต่ก็พบแต่รูปสมัยยังเด็กมาก บ่งชี้อะไรไม่ได้เลย

ข่าวลืออีกชิ้นระบุว่า คิม จองอึน สั่งประหารนายทหารระดับนายพลไปหลายรายด้วยข้อหา "มีพฤติกรรมนอกลู่นอกทาง" ทั้งเมาเหล้า ลวนลามผู้หญิง หรือกระทั่งเรื่องขี้ปะติ๋วอื่นๆ ไม่ต่างอะไรกับสมัยพ่อของเขายังมีชีวิตอยู่ เช่นกันที่เราไม่อาจรู้ได้เลยว่า ข่าวลือดังกล่าวจริงหรือไม่ หรือจะเป็นแค่โฆษณาชวนเชื่อ อวดอ้างศักดาผู้นำวัยเยาว์ให้ทั้งพลเมืองและชาวโลกได้ประจักษ์ภายใต้ความพยายามปลุกกระแสลัทธิบูชาบุคคลให้กลับคืนมาอีกครั้ง

ไม่ว่าจะเป็นข่าวการสั่งเก็บนายทหารระดับบิ๊ก การจัดงานเฉลิมฉลองสุดอลังการ หรือการประกาศยิงจรวดสุดสะพรึง ล้วนแล้วแต่เป็นไปเพื่อโปรโมตผู้นำคนใหม่ในภารกิจสานต่อลัทธิบูชาบุคคลให้ได้อย่างคิมผู้พ่อ เพราะผู้นำเกาหลีเหนือต้องได้รับการยอมรับนับถือจากกองทัพและประชาชนในฐานะผู้นำที่เก่งรอบด้านเข้าขั้นเหนือมนุษย์ แม้ว่าเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนจะยากแค้นแสนสาหัสเพียงไรก็ตาม เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้จะโดนวิพากษ์วิจารณ์หรือห้ามปรามมากน้อยแค่ไหน เกาหลีเหนือก็ยังยืนยันเดินหน้าแผนส่งจรวดลูกนี้อยู่ดี เพราะหากล้มเลิกก็หมายถึงความอ่อนด้อยไร้น้ำยา และตอกย้ำว่า ผู้นำนั้นอ่อนแออย่างที่ใครๆ เขานินทากัน

แผนปล่อยจรวดใช้งบประมาณราว 850 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่งานเฉลิมฉลองครั้งนี้ถลุงเงินไป 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือหนึ่งในสามของงบประมาณประจำปี พอจะซื้อข้าวให้ประชาชนกินได้ถึง 4.75 ล้านตัน แต่เพื่อประกาศศักดาในเวทีโลกแล้ว มากแค่ไหนก็คงต้องทุ่ม ขณะที่นักวิเคราะห์บางรายให้ทรรศนะว่า ด้วยเหตุที่เกาหลีเหนือไม่มีอะไรโดดเด่นเลย นอกจากความล้าหลังและยากจนข้นแค้น การพัฒนาเทคโนโลยีขีปนาวุธจึงเป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้โสมแดงส่องแสงเปล่งประกาย เรียกร้องความสนใจในระดับนานาชาติได้นั่นเอง

ท้ายที่สุด เราทั้งหลายคงต้องลุ้นกันว่า แผนปล่อยจรวดส่งดาวเทียมของเกาหลีเหนือครั้งนี้ มีนัยแอบแฝงอย่างที่ร่ำลือกันหรือไม่ หรือจะเป็นแค่การเล่นปาหี่บูชาผู้นำ แต่ที่แน่ๆ คือ แผนการข่มขวัญชาวโลกหนนี้ก็ทำเอาตลาดปั่นป่วน จะมีก็แต่บรรดาบริษัทผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารเท่านั้นที่นั่งยิ้มกว้างเตรียมโกยรายได้กันยกใหญ่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ