ส.ต่อต้านโลกร้อนค้านสร้างเขื่อนแม่วงก์ ชี้ผลาญงบฯ-กระทบสวล.รุนแรง

ข่าวทั่วไป Wednesday April 11, 2012 12:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนออกแถลงการณ์คัดค้านการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ และให้ยับยั้งและเพิกถอนโครงการดังกล่าว หลังคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 มีมติเห็นชอบข้อเสนอของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในโครงการเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์-กำแพงเพชร ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ซึ่งติดต่อกับผืนป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร พื้นที่ป่ามรดกโลกทางธรรมชาติ เพื่อป้องกันน้ำท่วม และช่วยเหลือเกษตรกรให้มีน้ำใช้เพื่อการเกษตร

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคเหนือตอนล่างมีเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางมากกว่า 10 เขื่อนแล้ว แต่ก็มิสามารถป้องกันปัญหาน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ได้ อีกทั้งโครงการดังกล่าวคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติไม่เห็นชอบในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ไปแล้วตั้งแต่ปี 2545 และยังเสนอให้กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลับไปศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ ในลักษณะบูรณาการมากกว่าที่จะเสนอให้มีการสร้างเขื่อนเป็นทางเลือกเดียวเท่านั้น

"รัฐบาลยุคนี้ใช้ข้ออ้างปัญหาน้ำท่วมเมื่อปี 2554 มาเป็นตัวประกันเพื่อสร้างความชอบธรรมในการเร่งรีบการสร้างเขื่อนดังกล่าว โดยมิได้พิจารณาเลยว่าน้ำท่วมที่ผ่านมาเป็นความผิดพลาดล้มเหลวของรัฐบาลและหน่วยงานราชการทั้งระบบมากกว่าการไม่มีเขื่อนต่างหาก"นายศรีสุวรรณ กล่าว

อีกทั้งการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ต้องใช้พื้นที่ป่าไม้มากกว่า 13,000 ไร่ ซึ่งจะทำให้ต้องสูญเสียผืนป่าแหล่งดูดซับก๊าซที่ก่อปัญหาโลกร้อน เนื่องจากต้นสักที่หนาแน่นเป็นอันดับสองของประเทศไทยรองจากอุทยานแห่งชาติแม่ยม จ.แพร่ จะถูกนำมาเป็นช่องทางหาผลประโยชน์ในการทำสัมปทานไม้ที่มีมูลค่านับหมื่นล้านบาท ทำลายที่อยู่อาศัย แหล่งน้ำ และแหล่งหากินของสัตว์ป่า

นอกจากนั้น เมื่อครั้งที่กรมชลประทานเสนอโครงการนี้ ในปี 2528 ระบุว่าจะมีการใช้งบประมาณในการก่อสร้างเพียง 3,187 ล้านบาทเท่านั้น โดยมีความจุของน้ำเหนือเขื่อน 380 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่พอมาเดือนสิงหาคม 2554 กรมชลประทานเพิ่มงบประมาณเป็น 9,629 ล้านบาท โดยลดความจุของน้ำเหนือเขื่อนเหลือ 258 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่เพียงชั่วระยะเวลาไม่ถึง 8 เดือน กลับมีการเพิ่มงบประมาณในการก่อสร้างไปถึง 13,000 ล้านบาท

"น่าสงสัยว่าจะเป็นโครงการผลาญงบประมาณของชาติอีกโครงการหนึ่งจากเงินกู้ 3.5 แสนล้านหรือไม่ ที่สำคัญโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง ซึ่งรัฐบาลต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเสียก่อนโดยเฉพาะในมาตรา 57 มาตรา 58 มาตรา 66 มาตรา 85 และมาตรา 87 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่หากรัฐบาลรวบรัดดำเนินการ และใช้เทคนิคเลี่ยงขั้นตอนตามกฎหมาย สมาคมฯและชาวบ้านก็พร้อมจะใช้กระบวนการยุติธรรมตามมาตรา 60 และมาตรา 67 วรรคสาม เพื่อยับยั้งและเพิกถอนโครงการดังกล่าวแน่นอนประกาศมา ณ วันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2555"นายศรีสุวรรณ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ