น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาเกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.7 ริกเตอร์ ที่เกาะสุมาตรา เป็นการเกิดอาฟเตอร์ช็อคเช่นกัน ซึ่งหลังจากเกิดแผ่นดินไหวขนาดรุนแรง 8.9 ริกเตอร์ที่ จ.อาเจะห์ เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซียวานนี้ ทำให้เกิดอาฟเตอร์ช็อคตามมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ หลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงเมื่อวานนี้ก็จะเกิดอาฟเตอร์ช็อคต่อเนื่องตามมาเรื่อยๆ มากพอสมควร แต่อาฟเตอร์ช็อคแบบแรงมีประมาณ 10 ครั้ง แต่จะเริ่มคลายตัวตามธรรมชาติของการเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งเป็นภาพบวกต่อประชาชน ที่จะทำให้รับทราบว่าผลกระทบของแต่ละครั้งน่าจะไม่มีความรุนแรงมากกว่านี้ มันจะลดลงเรื่อยๆ
"ตามหลักวิชาการการเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้น่าจะไม่มีความรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สิน...แต่คงบอกไม่ได้ว่าจะเกิดอาฟเตอร์ช็อคอีกกี่ครั้งจึงจะสงบ แต่ยืนยันครับว่าหลังจากนี้จะเบาลงเรื่อยๆ และทางศูนย์เตือนภัยพิบัติจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป หากมีโอกาสที่จะเกิดผลกระทบรุนแรงจะแจ้งเตือนต่อประชาชน"น.อ.สมศักดิ์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
น.อ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ตามหลักวิชาการ ยิ่งมีอาฟเตอร์ช็อคตามมาหลายๆครั้งติดต่อกัน ยิ่งเป็นผลดีต่อการผ่อนคลายของเปลือกโลก
อย่างไรก็ตาม แผ่นดินไหว 8.9 ริกเตอร์ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ นักวิชาการพยายามวิเคราะห์ไปในหลายลักษณะ แต่สามารถสรุปได้ว่าแผ่นดินไหวรุนแรงวานนี้มีความแตกต่างจากการเกิดแผ่นดินไหวเมื่อปี 2547 อย่างแน่นอน
"การเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้แตกต่างจากเมื่อปี 47 อย่างแน่นอน เพราะการเกิดครั้งนี้เป็นลักษณะไหวในทะเลจากเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียและแผ่นอินเดียที่มีการมุดตัวลงไป แต่ต้องให้นักวิชาการวิเคราะห์หาสาเหตุที่ถูกต้องกันต่อไป"ผอ.ศูนย์เตือนภัยฯ กล่าว
นอกจากนี้ จะดำเนินการประสานงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การชี้แจงข้อมูลข่าวสารต่อประชาชนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ให้คลาดเคลื่อน เพื่อจะได้ไม่สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชน และให้ติดตามข่าวสารจากทางราชการจะมีข้อมูลบอกอยู่แล้ว
"เวลานี้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ขอให้ติดตามข่าวสารจากทางราชการตลอด 24 ชม."ผอ.ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวทิ้งท้าย