ศูนย์เตือนภัยฯ ยันแผ่นดินไหวภูเก็ตจะลดแรงสั่นสะเทือนลง-คนละแนวกับอินโด

ข่าวทั่วไป Wednesday April 18, 2012 10:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า แผ่นดินไหวและอาฟเตอร์ช็อกที่จ.ภูเก็ตที่เกิดอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย.เป็นต้นมา สร้างความตื่นตระหนกและสับสนให้ประชาชนในพื้นที่ไม่น้อย แต่ยืนยันว่าแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นที่ภูเก็ตเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็ก ทั้งนี้ ได้มีการวิเคราะห์และประเมินแล้วว่าระดับที่รุนแรงและสามารถสร้างความเสียหายคือระดับตั้งแต่ 6.0 ริกเตอร์ขึ้นไป ซึ่งโอกาสมีน้อย

"แผ่นดินไหวในประเทศไทยต้องระดับ 6.0 ขึ้นไปจึงจะถือว่ารุนแรง ที่ภูเก็ตก็เช่นกัน ถ้าต่ำกว่าระดับ 6.0 ถือว่าเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็ก ซึ่งถ้าเกิดอาฟเตอร์ช็อกบ่อยๆยิ่งเป็นผลดี เป็นการคลายพลัง ทำให้กลับสู่ภาวะปกติ"ผอ.ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

น.อ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ภูเก็ตเคยเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2542 ครั้งนั้นมีขนาด 3.1 ริกเตอร์ และมาเกิดอีกครั้งเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา มีขนาด 4.3 ริกเตอร์ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยเกิดในจ.ภูเก็ต และเหตุการณ์ทั้ง 2 ครั้งเป็นการเกิดแผ่นดินไหวที่อยู่ในแนวเดียวกัน

"ที่ภูเก็ตเคยเกิดครั้งแรกตอนปี 42 ขนาด 3.1 ริกเตอร์ และมาเกิดอีกครั้ง ขนาด 4.3 ใน 13 ปีต่อมา ซึ่งทั้ง 2 ครั้งเป็นแนวเดียวกัน"น.อ.สมศักดิ์ กล่าว

ส่วนการเกิดแผ่นดินไหว และอาฟเตอร์ช็อกที่เกิดขึ้นที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย กับที่จ.ภูเก็ตในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน และมีอาฟเตอร์ช็อกสลับกันเป็นระยะๆนั้น น.อ.สมศักดิ์ อธิบายว่า เป็นคนละส่วนกัน เป็นคนละแนว ซึ่งในกรณีที่เกิดที่ภูเก็ต จะมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาเรื่อยๆ แต่จะมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆตามธรรมชาติ เพราะว่าเกิดครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 เมษายนมีระดับแค่ 4.3 ริกเตอร์ ถ้าตามธรรมชาติอาฟเตอร์ช็อกที่ตามมาก็จะไม่น่าจะเกินนี้

ผอ.ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวยืนยันว่า ระบบการเตือนภัยในพื้นที่ยังมีประสิทธิภาพ เมื่อเกิดภัยขึ้นสามารถแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทันท่วงที หรืออย่างช้าไม่เกิน 8 นาที

อย่างไรก็ตาม ได้ประสานกับท้องถิ่นให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชนว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยต่างๆ รวมถึงแนวทางการปฏิบัติ ต้องกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวแต่ไม่ตื่นตระหนก เรียนรู้วิธีปฏิบัติตัวเมื่อเกิดภัยต่างๆ เช่น อยู่ห่างจากกระจก ห้ามใช้ลิฟท์ในตึกสูง หากขับรถอยู่ให้จอดรถในทันที ถ้าฝนตกฟ้าร้องอย่าอยู่ใต้ต้นไม้ ฯลฯ

"ประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจเห็นข่าวการสั่นไหวบ่อยๆ จนเกิดความเคยชินคิดว่าไม่น่าจะมีอะไรหนักหนาสาหัส แต่พอถึงเวลาเกิดอะไรขึ้นก็จะกลายเป็นความสูญเสีย เพราะฉะนั้นต้องให้ตื่นตัวแต่ไม่ตื่นตระหนก"ผอ.ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวเสริมตอนท้าย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ