In Focusกระแสเงินทุนไหลเข้า -- "น้ำผึ้ง" หรือ "ยาพิษ"

ข่าวต่างประเทศ Wednesday April 18, 2012 13:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เมื่อมองดูผิวเผิน เงินทุนไหลเข้าน่าจะเป็นสิ่งที่หอมหวานที่ประเทศต่างๆต้องการให้เข้ามาสนับสนุนเศรษฐกิจของตน เนื่องจากจะช่วยสร้างผลผลิต, สร้างงาน, สร้างรายได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เงินทุนไหลเข้ากลับเป็นเหมือนดาบสองคม เพราะในจำนวนเงินทุนที่ไหลเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจการเงินแบบเสรีนับล้านล้านดอลลาร์นั้น มีอยู่เป็นจำนวนมากที่ไม่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจที่แท้จริงเลย ไม่ได้ทำให้เกิดการจ้างงาน แต่กลับสร้างกำไรให้กับนักเก็งกำไรข้ามชาติมากกว่า และนำไปสู่วิกฤติการเงิน

ยิ่งในขณะที่สหรัฐมีอัตราว่างงานสูง และต้องคงดอกเบี้ยต่ำไประยะหนึ่ง ประกอบกับยุโรปก็มีวิกฤติการเงินที่ยืดเยื้อ เราก็ต้องหันมาใส่ใจกับปัญหาเงินทุนไหลเข้าเป็นพิเศษ

In Focus ในวันนี้จะขอกล่าวถึงเงินทุนไหลเข้าใน 2 แบบ กล่าวคือ เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และเงินทุนระยะสั้น

*การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) หรือที่เรียกกันอีกอย่างว่า การลงทุนระยะยาวนั้นหลายคนมองว่าเป็นสิ่งดี เนื่องจากจะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับประเทศผู้รับการลงทุน แต่การสร้างรายได้จริงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้มีการวางระเบียบกฎเกณฑ์ ข้อต่อรอง ในแง่ที่เหมาะสม หากทางการมุ่งหวังแต่จะดึงการลงทุนโดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมต่างๆก็อาจจะทำให้เกิดการกดค่าแรง เพื่อดึงดูดเงินทุนเข้ามา ซึ่งแทนที่จะได้ผลดี กลับทำให้เกิดผลเสีย อีกทั้งยังต้องมีการวางเงื่อนไขเพื่อป้องกันการถ่ายโอนผลกำไรออกนอกประเทศ

*เงินทุนระยะสั้น

เงินทุนระยะสั้นแบ่งเป็นหลายรูปแบบ เช่น เงินฝากในบัญชีเงินบาทของต่างชาติ, เงินลงทุนในตลาดหุ้น, การปล่อยกู้ระยะสั้น เงินทุนระยะสั้นนั้นมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยต่างๆทั้งภายในปละภายนอกประเทศอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจหรือการเมือง หรือการเปลี่ยนแปลงด้านผลตอบแทน

หากเป็น FDI แล้ว เมื่อได้มีการสร้างโรงงาน, ซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆไว้แล้ว หากจะมีการเปลี่ยนแปลง ก็ต้องใช้เวลาหลายเดือนในการย้ายฐานการผลิต หรือเจรจาต่อรอง หรือปรับตัว แต่ถ้าเป็นเงินทุนระยะสั้นแล้ว การเปลี่ยนแปลงจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งเกิดขึ้นได้ในพริบตาผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ หายนะที่เกิดขึ้นสามารถเป็นแบบฉับพลันและตื่นตระหนก ส่งผลเสียไปทั้งระบบ

*พิษภัยจากเงินทุนระยะสั้น

แม้ว่ากระแสเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นมีผลดี แต่ก็ไม่สามารถประมาทถึงผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แม้แต่จีนเอง ซึ่งเป็นประเทศใหญ่ ก็ยังหวั่นเกรงความเสี่ยงจากการเคลื่อนไหวของเงินทุนเก็งกำไรทั่วโลก โดยนายกวน เถา หัวหน้าฝ่ายดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ สังกัดสำนักปริวรรตเงินตราแห่งรัฐของจีน (SAFE) แนะให้จีนเพิ่มความพยายามเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ระบบการเงิน และลดการพึ่งพาเงินทุนต่างประเทศ

ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากกระแสเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น มีอยู่หลายประการ อาทิ เช่น

          ในปี 2540 ไทยเคยเผชิญกับวิธีการนี้มาแล้วที่นักลงทุนข้ามชาติแสวงหาผลกำไรเข้าตัวด้วยการปล่อยข่าวโจมตีค่าเงินบาท เมื่อความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของเราลดลง เหตุการณ์นี้ทำให้มีการเทขายเงินบาทอย่างหนัก จนทำให้นักลงทุนตื่นตระหนกแห่ขนเงินออกนอกประเทศ

ในปี 2540 นั้นไทยได้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำระยะสั้น แล้วนำมาปล่อยกู้โดยคิดดอกเบี้ยสูงในระยะยาว เมื่อถึงกำหนดชำระก็ใช้วิธียืดการชำระหนี้ออกไป แต่เมื่อต่างชาติพร้อมใจกันเรียกเงินคืน ประกอบกับเมื่อมีการลอยตัวค่าเงินบาท หนี้ที่ต้องชำระเป็นเงินดอลลาร์จึงพุ่งขึ้นอย่างมหาศาล จนระบบการเงินของเราถึงกับบอบช้ำหนักเลยทีเดียว

          เงินเฟ้ออาจะไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันเหมือนกับการถอนเงินทุนออกนอกประเทศ แต่ก็เป็นสิ่งที่จะค่อยๆก่อตัวขึ้น เมื่อเงินไหลเข้ามามากๆ เงินในระบบก็จะค่อยๆเพิ่มขึ้น แต่เงินเหล่านี้มักไม่ค่อยเข้าสู่เศรษฐกิจที่แท้จริง แต่จะไปอยู่ที่การลงทุนในตลาดหุ้น, อสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้ราคาสินค้าแพงขึ้น, ค่าเงินแข็งกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งจะส่งผลกระทบไปเป็นลูกโซ่ให้ความสามารถในการแข่งขันลดลงจากค่าเงินที่แข็ง ทำให้รายได้จากต่างประเทศลดลง ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ และนำไปสู่วิกฤติในท้ายที่สุด

          เมื่อมีเงินทุนไหลเข้ามากๆ ก็จะต้องมีมาตรการควบคุมเงินทุนระยะสั้น ซึ่งก็มีหลายวิธี เช่น การคุมเงินลงทุนของต่างชาติในตลาดหลักทรัพย์ให้คงอยู่ยาวอย่างน้อย 1 ปี เช่นที่มาเลเซียเคยดำเนินการมาแล้ว หรือการที่บราซิลเก็บภาษีถึง 6% สำหรับเงินที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตร แต่ที่จะกล่าวในที่นี้คือ การเก็บภาษีโทบิน (Tobin Tax)

*ภาษีโทบิน — ปราการคุมเงินไหลเข้า

          ภาษีโทบินนั้นตั้งตามชื่อของนักเศรษฐศาสตร์ชาวสหรัฐ นายเจมส์ โทบิน ภาษีนี้มีจุดประสงค์เพื่อลดการเก็งกำไรข้ามสกุลเงิน โดยเป็นภาษีที่เรียกเก็บจากซื้อขายเงินตราต่างประเทศทุกประเภทในอัตราที่ต่ำ เช่น 0.1% ซึ่งภาษีนี้จะกระทบการลงทุนระยะยาวน้อยมาก เนื่องจากการลงทุนเหล่านั้นมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนน้อยครั้ง แต่จะกระทบกลุ่มนักเก็งกำไรที่เคลื่อนย้ายเงินตราต่างประเทศตลอดเวลา ซึ่งหากเก็บภาษีโทบินเพียงร้อยละ 0.1 กลุ่มที่แลกเปลี่ยนเงินตราเพื่อเคลื่อนย้ายเงินทุนตลอดเวลา จะต้องเสียภาษีมากถึง 48% ต่อปี หากมีการเก็บภาษีนี้ในตลาดการเงินโลก ก็สร้างรายได้ถึงหลายหมื่นล้านดอลลาร์ ช่วยลดความผันผวนและความเสี่ยงที่จะนำไปสู่วิกฤติ
          แม้กระนั้นก็ตาม มาตรการคุมเงินทุนไหลเข้าก็เป็นสิ่งที่คงอยู่ได้เพียงชั่วคราว ให้ผลดีในระยะสั้นๆ เราจึงควรมาพิจารณาอีกทางเลือกหนึ่งประกอบกัน ซึ่งก็คือ การสร้างระบบการเงินที่แข็งแกร่ง

*ระบบการเงินแข็งแกร่ง — วัคซีนคุ้มกัน ไม่หวั่นเงินไหลเข้าสร้างความผันผวน

          สิ่งสำคัญคือการป้องกันปัญหาก่อตัวในระบบการเงิน  ซึ่งจะทำให้ระบบเปราะบางต่อแรงกระทบ เมื่อดูจากช่วงที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ออสเตรเลียและสิงคโปร์ก็เผชิญปัญหาเงินทุนไหลเข้า แต่ทั้ง 2 ประเทศนี้มีความระมัดระวังในการปล่อยกู้อย่างมาก มีระบบการเงินที่เข้มแข็ง บริหารความเสี่ยงดี จึงทำให้แม้ว่าต้องซวนเซไปบ้าง แต่ก็ไม่ล้มลง แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า การที่จะเร่งรัดให้ระบบการเงินแข็งแกร่งขึ้นมาโดยเร็วนั้น คงจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งยวด ในขณะเดียวกัน ก็ควรมีการกันสำรองสภาพคล่องไว้รับมือกับปัญหาด้วย ต้องไม่ชะล่าใจ เพราะเราไม่รู้ว่าปัญหาจะเกิดในประเทศไหน แต่การกันไว้ย่อมดีกว่าแก้แน่นอน จะได้ไม่ลำบากในภายหลัง

*วิกฤติหนี้ยุโรปเขย่าเงินทุนไหลเข้า-ออกปี 2555

          ปี 2554 ถือเป็นจุดเสี่ยงของระบบการเงินโลก และทิศทางการเคลื่อนย้ายเงินทุน โดยมีวิกฤติหนี้ยุโรปและการฟื้นตัวที่เปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐเป็นประเด็นหลัก ความวิตกดังกล่าวทำให้นักลงทุนลดการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งในไทย ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายและกิจกรรรมในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนของไทยลดลงจากปี 2553 โดยเงินบาทมีความผันผวนระหว่างปีมากกว่าปี 2553
          สำหรับในปี 2555 นั้น เนื่องจากวิกฤติหนี้ยุโรปยังคงยืดเยื้อ และธนาคารพาณิชย์ในยุโรปต้องดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามเกณฑ์มากขึ้น ซึ่งทำให้นักลงทุนมีแนวโน้มลดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง และในประเทศที่ห่างไกล เช่นไทย ประกอบกับการค้าทั่วโลกที่ลดลง ซึ่งจะส่งผลให้การเกินดุลการค้าของไทยลดลง ดังนั้น จึงคาดว่าจะไม่มีเงินไหลเข้าล็อตใหญ่ แต่ภาวะเงินไหลออกจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์
          ดังนั้น ปัจจัยที่ควรจับตามอง จึงได้แก่ วิกฤติหนี้ยุโรป, เศรษฐกิจสหรัฐ, ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง, การลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีน เพราะทุกปัจจัยส่งผลกระทบต่อสกุลเงินหลักของโลก ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเนื่องมาถึงค่าเงินบาทของไทย
          การไหลเข้า-ออกของเงินทุนในปีนี้สามารถทำให้ราคาในตลาดหุ้น, การเงิน และตลาดพันธบัตรเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เมื่อมีข่าวร้าย นักลงทุนก็จะเทขายสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดเกิดใหม่อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะขาดทุนได้ การลงทุนในปีนี้จึงต้องมีความระมัดระวัง เพราะเป็นปีที่ยากปีหนึ่ง

*บทเรียนสอนใจจากอดีตกับความเสี่ยงในปัจจุบัน

          ช่วงปี 1992-1993 มีเม็ดเงินจำนวนมากไหลเข้าสู่เม็กซิโก และจบลงด้วยวิกฤติเม็กซิโกในปี 1994 จากนั้นเงินทุนก็ไหลมายังเอเชีย ซึ่งได้แก่ ไทย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และประเทศอื่นๆในปี 1995-1996 ทำให้เกิดการลงทุนในโครงการต่างๆจนเกินตัว เกิดความฟุ้งเฟ้อ แล้วก็จบด้วยวิกฤติในปี 1997 (พ.ศ.2540) จากนั้น กระแสเงินทุนก็ไหลไปยังบราซิล, รัสเซีย ซึ่งเกิดวิกฤติในปี 1998 ส่วนอาร์เจนตินาเกิดวิกฤติในปี 2002
          เมื่อเกิดวิกฤติในเอเชียและละติน อเมริกาแล้ว เงินทุนก็ไหลกลับไปยังสหรัฐและยุโรป ใช้เวลาอีกหลายปีในการสะสมความเสี่ยง จนทำให้เกิดวิกฤติจนทุกวันนี้ จึงน่าจับตาว่า เงินทุนจะไหลกลับมายังเอเชียอีกครั้งหรือไม่ในรอบนี้
          หากสหรัฐผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบ 3 (QE3) ก็จะทำให้สภาพคล่องในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น ธนาคารจะปล่อยกู้เพิ่มขึ้นโดยคิดดอกเบี้ยต่ำ ทำให้เอเชียมีความเสี่ยงต่อวิกฤติการเงินมากขึ้น

          ... แม้ว่ากระแสเงินทุนที่ไหลเข้าประเทศจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่ในขณะเดียวกัน ก็สร้างความเสี่ยงที่รุนแรงได้ ฉะนั้น การยึดหลักทางสายกลางตั้งรับในปริมาณที่พอเหมาะ ประกอบกับดำเนินนโยบายอย่างรอบคอบ น่าจะเป็นหนทางที่นำไปสู่ความปลอดภัย และหลักปรัชญา"ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" ก็จะคงใช้ได้เสมอในสถานการณ์นี้ เพราะหากปล่อยตัว ปล่อยใจ หลงระเริง เสพติดเงินทุนไหลเข้าจากต่างชาติ โดยไม่คิดสร้างความแข็งแกร่งให้กับตนเอง สักวันเมื่อเงินทุนนั้นถูกหอบกลับคืนไปหมด ผลที่เกิดขึ้นก็คงไม่ต่างกับ "การลงแดง" นั่นเอง

แท็ก In Focus:  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ