ก.เกษตรฯ เร่งสำรวจพื้นที่การเกษตรหลังเกิดภัยแล้ง-แนะระวังเพลี้ยกระโดดระบาด

ข่าวทั่วไป Wednesday April 18, 2012 17:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการติดตามผลกระทบต่อภาคการเกษตรจากสถานการณ์ภัยแล้งจากข้อมูลพื้นที่ที่ทางจังหวัดได้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) แล้วจำนวน 42 จังหวัด 334 อำเภอ 2,442 ตำบล 25,434 หมู่บ้าน เนื่องจากเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรนั้น พบว่า ได้ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น เชียงราย นครพนม เพชรบุรี ยโสธร ศรีษะเกษ แบ่งเป็น ด้านพืช 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เพชรบุรี เชียงราย ยโสธร ศรีสะเกษ พื้นที่เสียหาย 16,853 ไร่ เกษตรกร 1,844 ราย คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือ 10.701 ล้านบาท ด้านปศุสัตว์ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น นครพนม เพชรบุรี สัตว์ได้รับผลกระทบ 2.29 ล้านตัว เกษตรกร83,445 ราย ใช้เงินทดรองราชการในอำนาจผู้ว่าราชกาจังหวัดซื้อหญ้าแห้ง เวชภัณฑ์ วงเงิน 20.05 ล้านบาท

ขณะที่ด้านประมงไม่มีรายงานผลกระทบ แต่ก็ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่เร่งสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือในระยะเร่งด่วนแล้ว

ในเบื้องต้นกระทรวงเกษตรฯ ได้จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ รวมทั้งหมด 1,402 เครื่อง ปัจจุบันได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อช่วยเหลือตามพื้นที่พื้นที่ประสบภัยแล้ง ทั้งนาปี นาปรัง พืชไร่และอุปโภค บริโภคแล้ว จำนวน 693 เครื่อง ในพื้นที่ 54 จังหวัด รวมถึงสนับสนุนรถยนต์บรรทุกน้ำ เตรียมการไว้ 295 คัน ปัจจุบัน สนับสนุนแล้ว 4 คันขณะเดียวกัน สำนักฝนหลวงได้ขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งได้เริ่มตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อช่วยเหลือภาวะภัยแล้ง ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์2555 เป็นต้นมา จำนวน 10 หน่วยปฏิบัติการ และฐานเติมสารฝนหลวง 1 ฐาน มีเครื่องบินปฏิบัติงานทั้งหมด จำนวน 24 เครื่อง

นายธีระ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับความคืบหน้าการควบคุมการแพร่ระบาดของศัตรูพืชเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในพื้นที่นาข้าว พบว่า จากมาตรการต่างๆ ที่กระทรวงเกษตรฯ เข้าไปดำเนินการควบคุมพื้นที่การแพร่ระบาดพบว่า ขณะนี้มีพื้นที่การระบาดประมาณ 1,051,900ไร่ ลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 62,395 ไร่ ในพื้นที่ 22 จังหวัด 105 อำเภอ เช่น จังหวัดปทุมธานี สุพรรณบุรี อ่างทอง และจังหวัดกรุงเทพมหานคร เป็นต้น แต่ทั้งนี้ในพื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ จึงคาดว่าเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลยังคงมีการระบาดในหลายพื้นที่ เนื่องจากการปฏิบัติของเกษตรกรและสภาพอากาศเหมาะกับการขยายพันธุ์เพิ่มประชากร ประกอบกับช่วงนี้หลายพื้นที่ของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกมีการเก็บเกี่ยวข้าวทำให้มีการอพยพของตัวเต็มวัยเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลชนิดปีกยาว จากแปลงนาที่มีการเก็บเกี่ยวไปยังแหล่งใหม่ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีกระแสลมตะวันออกเฉียงใต้ ช่วยให้มีการกระจายตัวมากขึ้น ดังนั้น เกษตรกรต้องหมั่นตรวจแปลงนาอย่างต่อเนื่องในระยะนี้เพื่อเลือกใช้วิธีการควบคุมที่เหมาะสมด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ