รัฐแย้มเล็งถมทะเลสร้างเมืองใหม่ มองจีนเป็นต้นแบบ-นักวิชาการแนะคิดให้ดี

ข่าวทั่วไป Wednesday April 25, 2012 18:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งการให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.) ไปวางผังเมือง โดยดูจากการวางแผนผังของเมืองเทียนจิน สาธารณรัฐประชาชนจีน ให้มีการถมทะเลสร้างเมืองใหม่ ซึ่งเป็นนโยบายหนึ่งที่ทางพรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้ก่อนหน้านี้ว่า เมืองเทียนจิน ของประเทศจีนถือเป็นเมืองเก่าแก่มีมานานแล้ว โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้ทาง กบอ.ไปพิจารณาเรื่องของการวางผังเมืองใหม่ ซึ่งพบว่าเมืองเทียนจินได้มีการแบ่งโซนพื้นที่ในการพัฒนา โดยนำรูปแบบของประเทศต่างๆ เข้ามาอยู่ในพื้นที่อย่างประเทศอังกฤษ เพื่อทำให้เห็นถึงการพัฒนาของจีน

โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่าควรจะนำรูปแบบต่างๆ เข้ามาปรับปรุงในส่วนของไทย ทั้งในเรื่องของศิลปาชีพและโอท็อป รวมถึงการปรับปรุงพื้นที่ เช่น ดอนเมือง หรือท่าเรือ เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารเป็นไปตามแผนเดียวกัน

รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีอยากให้มีการอัพเดตข้อมูลไปพร้อมๆ กันและใช้บรรทัดฐานเดียวกัน เช่น เรื่องแผนที่ก็ต้องการเห็นการใช้แผนที่ในพิกัดเดียวกันทั้งหมด รวมถึงการทำ MOU ร่วมกันระหว่างประเทศจีนและญี่ปุ่นในการเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงในประเทศ และให้มีการเชื่อมต่อรถไฟรางเก่าซึ่งยังคงใช้อยู่ โดยใช้ส่วนนี้นำไปสู่การท่องเที่ยวในท้องถิ่น รูปแบบชนบท

อย่างไรก็ดี นโยบายของพรรคเพื่อไทยเรื่องการถมทะเลสร้างเมืองใหม่นั้นต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าเป็นนโยบายที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากและเป็นโครงการระยะยาว เนื่องจากต้องมีการจัดหาพื้นที่เพิ่มเติม

ด้านนายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ในการที่จะสร้าง แต่จะต้องรักษาระบบนิเวศน์ไว้ เพราะการพัฒนาจะต้องมีการทำควบคู่กันไป แต่ถ้าถมทะเลเป็นผืนและป่าชายเลน แหล่งทำกินถูกทำลายและหมดไปก็จะถูกต่อต้านแน่นอน แต่ก็มีแนวคิดที่จะทำได้ โดยถมเป็นทางออกไป แล้วไปเปิดในทะเล ซึ่งไม่ใช่เป็นวิธีการที่จะถมตั้งแต่ริมฝั่ง

นายเสรี กล่าวว่า การถมทะเลจะต้องมีการศึกษาผลดีผลเสียอย่างละเอียดรอบคอบ เพราะถ้าศึกษาแล้วเจอปัญหาว่าส่งกระทบต่อระบบนิเวศน์และไม่สามารถทำควบคู่ได้ดีทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม หรือมีข้อดีเพียงข้อเดียวคือเรื่องเศรษฐกิจ การสร้างงานใหม่ก็ไม่ควรจะทำ และที่สำคัญการสร้างเมืองใหม่จะต้องไม่ใช้เงินภาษีของประชาชน อาจจะใช้เงินลงทุนจากต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม นโยบายการถมทะเลที่ถูกต่อต้านในก่อนหน้านี้ เพราะไม่มีความชัดเจนในรายละเอียดของการการบริหารจัดการ วิธีการดำเนินการ ดังนั้นจะต้องมีการศึกษาหาความชัดเจนให้ได้เสียก่อนเพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน

ขณะที่นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล แสดงความไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว เพราะพื้นที่ของประเทศไทยที่จะถมทะเลนั้น ประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างมหาศาล ทั้งเรื่องของการประมง การใช้ชีวิตดำรงอยู่ รวมถึงระบบนิเวศน์ และสัตว์น้ำอีกมาก ดังนั้นถ้ารัฐบาลตัดสินใจทำอะไรไปโดยไม่มีการศึกษาถึงความชัดเจนก็จะเกิดผลกระทบแน่นอน

โดยส่วนตัวไม่เชื่อว่าประเทศไทยจะมีศักยภาพที่จะศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในโครงการใหญ่ๆ แบบนี้ได้ และไม่ว่าจะเรื่องของกำลังคน หรือแม้แต่กระทรวง ทบวง กรมก็ตาม ซึ่งใครที่บอกว่าถมทะเลแล้วจะไม่มีปัญหานั้นตนไม่เชื่อเด็ดขาด หากทำจริงตนเชื่อมั่นว่าจะเกิดผลกระทบอย่างรุนแรง รวมทั้งเกิดปัญหาเรื่องการจัดการในพื้นที่ชายฝั่งทะเล

"ขอถามว่าผลดีของโครงการนี้คืออะไร เพราะประเทศไทยมีพื้นที่อีกเยอะที่จะนำไปพัฒนา หากประเทศไทยไม่มีที่ ก็เข้าใจได้ โครงการนี้ใครจะได้ประโยชน์ เพราะฉะนั้นการสร้างน้ำหนักของผลดีและผลเสียยังนึกภาพไม่ออก ทำไมการขยายเมืองใหม่ต้องขยายในทะเล หากโครงการดังกล่าวทำแล้วเกิดผลเสียใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะเป็นโครงการที่ทำถาวร แก้ไขยาก ใครจะกล้ารับผิดชอบกับการทำลายทะเลด้วยพื้นที่มหาศาล การที่จะออกมาขอโทษ เสียใจทำทะเลพังมันไม่ได้" นายธรณ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ