โพลล์มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยแรงงานไทยหนี้พุ่งสูงสุดในรอบ 4 ปี ทะลุหัวละ 9 หมื่นบาท จากปี 52 อยู่ที่ 8.7 หมื่นบาท เนื่องจากต้องกู้หนี้ยืมสินมาเป็นค่าใช้จ่ายประจำวัน ซื้อรถ-บ้าน หนำซ้ำมีปัญหาผ่อนชำระ ส่วนการประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาทไม่ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นหรือมีหนี้ลดลง เพราะค่าครองชีพสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ขณะที่คาดเงินสะพัดวันแรงงานสูงสุดรอบ 4 ปีที่ 1.7 พันล้านบาท
"ปัจจุบันแรงงานมีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือน 91,710.08 บาท ผ่อนชำระต่อเดือน 5,773.47 บาท ซึ่งทั้งภาระหนี้สิน และการผ่อนชำระต่อเดือนสูงสุดนับตั้งแต่ศูนย์ฯ เริ่มสำรวจสถานภาพแรงงานไทยเมื่อปี 52 ที่มีหนี้สินต่อครัวเรือน 87,399.02 บาท และผ่อนชำระต่อเดือน 5,080.23 บาท" นางยาใจ ชูวิชา ประธานคณะจัดทำการสำรวจความคิดเห็นประเด็นเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทยที่ได้จากแรงงานทั่วประเทศ 1,198 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 18-23 เม.ย.ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ผุ้ใช้แรงงานมากถึง 79.1% ระบุมีปัญหาในการผ่อนชำระหนี้ ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่ปี 52 ที่มีปัญหาผ่อนชำระ 69.9% โดยหนี้สินเกิดจากการกู้เงินเพื่อใช้จ่ายประจำวันมากที่สุด รองลงมาเป็นกู้เพื่อซื้อยานพาหนะ ซื้อที่อยู่อาศัย ค่ารักษาพยาบาล และลงทุน อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ใช้แรงงานมากถึง 63.9% ระบุว่ายังมีเงินออม แต่เป็นจำนวนที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่การสำรวจปี 52 ที่ผู้ใช้แรงงานมากถึง 9 5% ระบุมีเงินออม แสดงว่า ผู้ตอบก่อหนี้เพิ่ม ไม่มีเงินเหลือเก็บ และบางส่วนนำเอาเงินออมมาใช้จ่าย
ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ระบุว่าเงินที่เพิ่มขึ้นแทบจะไม่ช่วยให้เป็นหนี้น้อยลง มีเงินออมมากขึ้น ความเป็นอยู่ดีขึ้น และใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพราะค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นมาก จึงต้องการให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกตามภาวะค่าครองชีพ โดยในอีก 3 ปีข้างหน้าควรอยู่ที่เฉลี่ยวันละ 435 บาท และอีก 5 ปีข้างหน้าเฉลี่ยที่ 546 บาท แต่ในปัจจุบันควรอยู่ที่วันละ 356.68 บาท ไม่ใช่ 300 บาท
สำหรับสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลดูแลมากที่สุดคือ ค่าครองชีพ(ราคาสินค้า) การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ หนี้สินของแรงงาน ฝีมือแรงงาน รายได้ของคนชรา ค่ารักษาพยาบาล และการว่างงาน ทั้งนี้ผู้ใช้แรงงานได้ให้คะแนนความพึงพอใจต่อนโยบายด้านแรงงานของรัฐบาลชุดนี้ในปีที่ผ่านมา 6.7 คะแนนจากเต็ม 10
สำหรับการใช้จ่ายในช่วงวันหยุดแรงงาน 1 พ.ค.นี้ คาดจะมีเงินสะพัด 1,796.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.53% สูงสุดนับตั้งแต่ปี 52 ที่มีเงินสะพัด 1,488.59 ล้านบาท
ขณะที่นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แรงงานส่วนใหญ่ชอบการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่ยังไม่เพียงพอกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น จากภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น จึงต้องการให้รัฐบาลขึ้นค่าแรงให้อีก อย่างไรก็ตาม การขึ้นค่าแรงทำให้แรงงานกังวลว่านายจ้างจะใช้แรงงานต่างด้าวแทน และยังไม่มั่นใจว่าตกงานในอนาคตหรือไม่ จึงยังไม่กล้าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ดังนั้นทั้งรัฐบาลและนายจ้างควรสร้างความมั่นใจ เพื่อให้แรงงานมั่นใจที่จะใช้จ่าย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศได้ตามเป้าหมายของรัฐบาล โดยการขึ้นค่าแรงครั้งนี้ ทำให้ลูกจ้างมีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้น 70,000-80,000 ล้านบาท มีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ 0.5% และน่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้ 5.5-6.5% ตามที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ คาดการณ์