นายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า จากสภาวะอากาศที่ร้อนอบอ้าวแตกต่างจากปีที่แล้ว จึงมีแนวโน้มว่าสภาพฝนปีนี้จะไม่มากเหมือนกับปีที่ผ่านมา ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ก็ได้คาดการณ์ปริมาณฝนปี 2555 จะมากกว่าค่าปกติเพียงเล็กน้อย จากการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 55 ได้วางแผนการใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ในช่วงต้นฤดูฝนตั้งแต่เดือนพ.ค.-ก.ค. 55 อีกประมาณ 3,000 ล้าน ลบ.ม. โดยเขื่อนทั้งสองนั้นยังมีปริมาณน้ำสำรองในอ่างเก็บน้ำเพียงพอที่จะระบายในช่วงเวลาดังกล่าว
ปัจจุบัน (25 เม.ย. เวลา 24.00 น.) เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 6,937 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 52 มีช่องว่างสามารถรับน้ำได้อีก 6,525 ล้าน ลบ.ม. และมีปริมาณน้ำใช้งานได้ 3,137 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่เหลือปริมาณน้ำที่จะระบายตลอดฤดูแล้งอีก 87 ล้าน ลบ.ม. หรือเฉลี่ยวันละ 18 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 5,041 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 53 มีช่องว่างสามารถรับน้ำได้อีก 4,469 ล้าน ลบ.ม. และมีปริมาณน้ำใช้งานได้ 2,191 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่เหลือปริมาณน้ำที่จะระบายตลอดฤดูแล้งอีก 100 ล้าน ลบ.ม. หรือเฉลี่ยวันละ 20 ล้าน ลบ.ม.
สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ กฟผ. ปัจจุบัน (25 เม.ย. เวลา 24.00 น.) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 36,881 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 60 ของความจุอ่างฯ ทั้งหมด มากกว่าปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน 2,815 ล้าน ลบ.ม. หรือมากกว่าปีที่แล้วร้อยละ 8 แต่นับว่าอ่างเก็บน้ำทุกแห่งอยู่ในเกณฑ์ปกติ
อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ได้ระบายน้ำในช่วงฤดูแล้งไปแล้วกว่า 13,000 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ ณ ปัจจุบันเขื่อนภูมิพลมีปริมาตรน้ำลดลงเหลือร้อยละ 52 และเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาตรน้ำลดลงเหลือร้อยละ 53 โดยเขื่อนทั้งสองยังเหลือปริมาณน้ำที่จะระบายจนถึงสิ้นสุดฤดูแล้งในวันที่ 30 เมษายน 2555 อีกเพียง 187 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์จะเหลือปริมาตรน้ำอยู่ร้อยละ 51 และร้อยละ 52 ตามลำดับ ซึ่งจะเหลือปริมาณน้ำใช้งานได้รวมกัน 5,173 ล้าน ลบ.ม. และมีช่องว่างสำหรับรับน้ำในฤดูฝนรวม 11,149 ล้าน ลบ.ม. เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการช่องว่างในเขื่อนทั้งสองราว 10,000 ล้าน ลบ.ม.
ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ กล่าวเพิ่มเติมว่า การบริหารจัดการน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ในปี 2555 นี้ มีการดูแลและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดตั้งแต่การวางแผนการระบายน้ำช่วงฤดูแล้งให้เหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งเพื่อการใช้น้ำด้านการเกษตร การรักษาระบบนิเวศ และการพร่องน้ำสำรองช่องว่างในอ่างฯ อย่างไรก็ตามการบริหารจัดการน้ำก็ยังมีความเสี่ยง ซึ่ง กฟผ. และคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ จะเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อไป