"นลินี"เผยรัฐบาลมุ่งพัฒนาคุณภาพการศึกษา หวังเป็นหนทางแก้วิกฤตชาติ

ข่าวทั่วไป Thursday May 10, 2012 12:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางนลินี ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติ พ.ศ.2555 “การประกันคุณภาพการศึกษาไทยใต้ร่มพระบารมี" ซึ่งจัดโดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ.ว่า การปฏิรูปการศึกษา เป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ที่ผ่านมารัฐบาลได้ทุ่มเทจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษาเป็นจำนวนมากที่สุด โดยหวังว่าจะส่งผลต่อการพัฒนาไปสู่คุณภาพการศึกษาที่มีเป้าหมายสูงสุดคือคุณภาพของผู้เรียน ซึ่งตรงกับภารกิจของ สมศ.ที่จะสะท้อนผลของการจัดการศึกษาในภาพรวมของประเทศ สอดคล้องกับแนวคิด “คุณภาพศิษย์ เป้าหมายการประเมิน" ดังนั้น จึงสมควรที่ทุกคนจะต้องทำความเข้าใจว่าคุณภาพการจัดการศึกษา มีความสำคัญอย่างไร เกี่ยวข้องกับประชาชนอย่างไร และจะมีผลกระทบต่อประชาชนในแง่ใดบ้าง

จากปัญหาวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ และปัญหาอุทกภัยที่ผ่านมา ตลอดจนการเตรียมก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.2558 ล้วนเกี่ยวข้องกับความสำเร็จด้านการจัดการศึกษาและคุณภาพการศึกษา เพราะหากการจัดการศึกษาสามารถนำเอาความรู้มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราก็คงจะไม่ประสบปัญหาดังที่เป็นอยู่ หรือเราก็จะสามารถรับมือกับปัญหาเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหากจะแก้ไขปัญหาในระยะยาวก็จำเป็นจะต้องพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาและผ่าตัดระบบการศึกษา ด้วยการปฏิรูปการศึกษาควบคู่กันไป

รัฐบาลจะปฏิรูปการศึกษาโดยเร่งรัดพัฒนาคุณภาพการศึกษา สร้างโอกาสทางการศึกษา ปฏิรูปครู จัดการศึกษาขั้นอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เร่งพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างทุนปัญญาของชาติ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งรัดพัฒนาคุณภาพการศึกษา รัฐบาลจะปฏิรูประบบความรู้ของสังคมไทย โดยยกระดับองค์ความรู้ให้ได้มาตรฐานสากล ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและความเป็นไทย เพิ่มผลสัมฤทธิ์ของการศึกษาทุกระดับชั้นด้วยการวัดผลจากการทดสอบมาตรฐานในระดับชาติและนานาชาติ เป็นต้น

สำหรับการประเมินคุณภาพการศึกษาถือเป็นเครื่องมือสำคัญประการหนึ่งของกระบวนการพัฒนา ซึ่งจะบ่งบอกได้ว่าสถานศึกษาแต่ละแห่งมีจุดเด่นและจุดด้อยอย่างไร จะช่วยให้ผู้รับการประเมินมองเห็นทิศทางในการประเมินได้อย่างชัดเจน โดยมี สมศ. เป็นองค์กรที่สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาดังกล่าว และรัฐบาลสามารถนำผลประเมินที่ได้ไปกำหนดเป็นนโยบายในโอกาสต่อไป

ด้านนายชิงชัย หาญเจนลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร สมศ. กล่าวรายงานว่า ในปี 2558 ประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน จึงต้องเตรียมความพร้อมในหลายด้านโดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เช่น วิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ โดย สมศ.พร้อมให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนในทุกรูปแบบแต่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งบุคลากรทางการศึกษา คณาจารย์ และสถานศึกษา เพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาคุณภาพของศิษย์ซึ่งเป็นเป้าหมายของการประเมิน

ในปี 2554 ที่ผ่านมา สมศ. ได้ริเริ่มนวัตกรรมการประเมินใน 3 รูปแบบ คือ ตัวบ่งชี้ 3 มิติ การประเมินแบบ 1 ช่วย 9 และการประเมินเชิงพื้นที่ (Area-based Assessment) ที่สะท้อนความเป็นคนดีในสังคมไทย โดยมีจิตอาสาช่วยเหลือเกื้อกูลกันแบบ “น้ำใจไทย" และทำให้เกิดปรากฏการณ์ของการทำงานร่วมกันอย่างเต็มรูปแบบ เจาะทะลุความอ่อนด้อยเพื่อนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของการศึกษา