นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เป็นตัวแทนกลุ่มชาวบ้านใน จ.ระยอง รวม 43 ราย ยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาเพื่อมีคำสั่งชี้ขาดใหม่เกี่ยวกับคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในคดีที่สมาคมฯ ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ, เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.), รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, รมว.อุตสาหกรรม, รมว.พลังงาน, รมว.คมนาคม, รมว.สาธารณสุข และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-8 เรื่องเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร จากการที่ร่วมกันเห็นชอบหรืออนุญาตให้เจ้าของโครงการหรือกิจกรรมที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ไปดำเนินการก่อสร้างหรือขยายโรงงานในพื้นที่มาบตาพุด บ้านฉางและใกล้เคียง ซึ่งขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตโรงงานต่างๆ จำนวน 76 โรงงานในพื้นที่มาบตาพุดและใกล้เคียง และให้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง
โดยคำร้อง ระบุว่า คดีนี้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาวันที่ 2 ก.ย.53 สั่งเพิกถอนใบอนุญาตโครงการหรือกิจกรรมที่เป็นโครงการอาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ต่อมามีการยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุด ระหว่างนั้นได้มีการยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวในชั้นพิจารณาของศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุด ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งวันที่ 2 ธ.ค.52 ยืนตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองกลาง แต่ให้มีการยกเว้นใน 11 ประเภทโครงการจาก 76 โครงการ เนื่องจากเห็นว่ายังไม่น่าจะเข้าข่ายโครงการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง
ต่อมาปรากฏตามข่าวสื่อมวลชนกรณีเกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้สารทูโลอีนของโรงงานบีเอสที อิลาสโตเมอร์ส ของบริษัท กรุงเทพซินธิติกส์ จำกัด ที่เป็นประเภทอุตสาหกรรมที่ 39 ใน 76 โครงการที่มีการฟ้องคดี ภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเมื่อวันที่ 5 พ.ค.55 ทำให้มีการรั่วไหลของสารพิษและควันดำสู่บรรยากาศแพร่กระจายจนมีคนงานเสียชีวิตกว่า 11 ราย และบาดเจ็บกว่า 142 ราย ซึ่งเหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบการที่มีการจ้างเหมาบริษัทรับจ้างซ่อมบำรุงจากภายนอกที่ขาดมาตรฐานความปลอดภัยมาปฏิบัติงาน ซึ่งเหตุที่เกิดก็ไม่ใช่ครั้งแรกของบริษัท เพราะเมื่อวันที่ 5-6 มี.ค.52 โรงงานดังกล่าวเคยมีสารเคมีรั่วไหลขณะขนถ่ายสารเคมีขึ้นจากท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด
และขณะนี้บริษัทดังกล่าวได้จัดทำโครงการขยายโรงงานและติดตั้งเครื่องจักรเพื่อการผลิตเพิ่ม และจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA และ กนอ.จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นไปวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(กอสส.) ท้วงติงความไม่สมบูรณ์หลายประการ และอีกกรณีที่โรงงานอดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลส์(ประเทศไทย) จำกัด ที่ตั้งในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช ตะวันออก (มาบตาพุด) จ.ระยอง เกิดมีก๊าซคลอรีนรั่วไหล จากความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ผู้ประกอบการในการเปิดวาล์วสารโซเดียมไฮโปคลอไรด์ หรือสารฟอกขาวส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ใต้ลมในแคมป์คนงานและชุมชนบริเวณใกล้เคียงกว่า 140 รายที่สูดดม ซึ่งมีกว่า 12 รายที่แพทย์สั่งให้นอนสังเกตอาการผิดปกติในโรงพยาบาล โดยโรงงานดังกล่าวเคยเกิดเหตุทำนองนี้มาแล้วเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.53 เกิดเหตุถังบรรจุสารเคมีล้มและระเบิดจนมีคนงานและชาวบ้านถูกส่งเข้าโรงพยาบาลกว่า 200 ราย
ทั้งนี้ เนื่องจากคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.52 อนุญาตให้โครงการของบริษัท อดิตยาฯ ผู้ก่อเหตุกรณีนี้สามารถประกอบกิจการได้ ดังนั้นผู้ฟ้องจึงขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาไต่สวนเพื่อมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวใหม่ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 75(1) โดยให้ศาลสั่งทั้ง 2 บริษัทหยุดประกอบกิจการเป็นการชั่วคราว หรือถาวรต่อไป และให้เพิกถอนรายงาน EHIA ของโครงการบริษัททั้งสอง รวมทั้งให้ศาลรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และ กนอ. ผู้ถูกฟ้องที่ 3- 8 ร่วมกันจัดทำ ปรับปรุงแผนสื่อสารความเสี่ยงภัย แผนรายงานฉุกเฉิน แผนอพยพหนีภัย แผนฟื้นฟูเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ
โดยให้ทุกแผนต้องเชื่อมโยงกับทุกโรงงานในพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย นิคมอุตสาหกรรมผาแดง นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก(ระยอง) นิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ฯลฯ พร้อมจัดตั้งศูนย์อพยพถาวรขึ้นภายใน 30 วันนับแต่ที่ศาลมีคำสั่ง และให้มีการซักซ้อมแผนร่วมกับชุมชนในพื้นที่มาบตาพุดและบ้านฉางทุก 3 เดือนที่ให้ผู้ฟ้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมทุกขั้นตอนทุกครั้ง และให้ศาลสั่งผู้ถูกฟ้องทั้งแปด ยุติการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการ สำหรับโครงการหรือกิจกรรมใหม่ในพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ทั้งหมดนับแต่ศาลมีคำสั่ง
"ศาลยังไม่ได้มีคำสั่งนัด คาดว่าต้องรออีกประมาณ 1-2 สัปดาห์น่าจะทราบว่าศาลจะมีคำสั่งไต่สวนหรือไม่ หากศาลปกครองสูงสุดสั่งไต่สวน ผมก็พร้อมนำชาวบ้านในพื้นที่มาให้ถ้อยคำ ขณะที่ภาพข่าวที่ปรากฏทางสื่อมวลชนมีความชัดเจนระดับหนึ่งแล้ว" นายศรีสุวรรณ กล่าว