โพลล์เผยปชช.มองประเทศไทยขาดแคลนความคิดสร้างสรรค์,ปัญหาค่าครองชีพบั่นทอน

ข่าวทั่วไป Monday May 21, 2012 09:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “ความคิดสร้างสรรค์กับการพัฒนาประเทศ" โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 994 คน พบว่า สิ่งที่ประชาชนคิดถึงมากที่สุดเมื่อพูดถึงความคิดสร้างสรรค์ คือ เป็นความคิดเกี่ยวกับเรื่อง ศิลปะ การวาดรูป วาดการ์ตูน การออกแบบบ้าน การออกแบบเสื้อผ้า (ร้อยละ 19.1) รองลงมาคือ การประดิษฐ์คิดค้นผลงานใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น (ร้อยละ 16.2) และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่างๆ เช่น การสร้างหุ่นยนต์ นวัตกรรมยานยนต์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 13.3)

เมื่อถามว่าประเทศไทยขาดแคลนความคิดสร้างสรรค์หรือไม่ ประชาชนร้อยละ 66.2 ระบุว่าขาดแคลน โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า คนไทยไม่ชอบคิดนอกกรอบ ชอบเลียนแบบคนอื่น ไม่มีคนสนับสนุนและต่อยอดทางความคิด ในขณะที่ร้อยละ 33.8 ระบุว่าไม่ขาดแคลน โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า คนไทยชอบอะไรแปลกๆ อยู่แล้ว มีศักยภาพในตัวเอง คนสมัยใหม่กล้าคิดกล้าทำ เป็นต้น ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าแม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่จะเชื่อว่าตนเองมีความคิดสร้างสรรค์ แต่ความคิดสร้างสรรค์ดังกล่าวก็ไม่ได้แปลงมาสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง

เมื่อถามต่อว่าปัจจัยใมองว่าเป็นตัวบั่นทอนทำลายความคิดสร้างสรรค์ในตัวของประชาชนคนไทยมากที่สุด ร้อยละ 32.6 ระบุว่าเป็นผลมาจาก ความเครียดจากปัญหาด้านการเงิน และค่าครองชีพ รองลงมาร้อยละ 23.5 เป็นผลมาจากสภาพสังคมไทยที่ไม่ค่อยยอมรับผู้ที่มีความคิดแปลก แตกต่าง และร้อยละ 14.7 เชื่อว่าเป็นผลมาจากขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ หรือ ขาดการให้ความสำคัญของฝ่ายการเมือง

ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับประโยชน์ของความคิดสร้างสรรค์ ที่มีต่อการพัฒนาประเทศไทยพบว่า ประชาชนร้อยละ 98.0 ระบุว่ามีประโยชน์ กล่าวคือจะช่วยให้มองโลกในมุมมองที่กว้างขึ้น จะทำให้มีการคิดค้นและพัฒนาสิ่งใหม่ๆ มากขึ้น รวมถึงมีแนวคิดใหม่ๆ ทำให้คนมีการพัฒนา ทันสมัยทันโลก เป็นผู้นำทางความคิด ขณะที่มีเพียงร้อยละ 2.0 เท่านั้นที่ระบุว่าไม่มีประโยชน์ โดยประชาชนกลุ่มนี้เชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม และประเทศไทยก็พัฒนาอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ประชาชนเห็นว่ามหาวิทยาลัยควรเป็นสถาบันที่มีบทบาทมากถึงมากที่สุดในการพัฒนาความคิดเชิงสร้างสรรค์ให้เห็นเป็นรูปธรรม (ร้อยละ 81.5) รองลงมาคือ โรงเรียน (ร้อยละ 80.4) และครอบครัว (ร้อยละ 74.3)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ