นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ JICA (Japan International Cooperation Agency) ได้ร่วมมือกันดำเนินงานโครงการต้านอุทกภัยสำหรับภาคเกษตรกรรมในประเทศไทย (Project for Flood Countermeasures for Thailand Agricultural Sector) โดยมี 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ 1) เสนอแผนปรับปรุงให้ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ฟื้นตัวใหม่ 2) เสนอแนวทางฟื้นฟูและเสริมแรงอาคารชลประทาน
และ 3) เสนอแนวทางวางแผนสำหรับชุมชนเกษตรที่ฟื้นตัวเร็วจากพิบัติภัย ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งคัดเลือกพื้นที่ต้นแบบใน 5 จังหวัด รวม 8 พื้นที่ให้แล้วเสร็จในเดือนมิถุนายนนี้ โดยคัดเลือกพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตอนบน จังหวัดพิษณุโลก ตอนกลาง จังหวัดชัยนาท และ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ ตอนล่าง ใน จังหวัดปทุมธานี และ จังหวัดนครปฐม
พร้อมกันนี้ ได้พิจารณาพื้นที่ที่เป็นตัวแทนเกษตรกรรมทุกประเภท เช่น ข้าว พืชไร่ ไม้ผล/ไม้ยืนต้น ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผัก โดยคัดเลือกพื้นที่ ที่รัฐบาลอาจกำหนดให้เป็นพื้นที่ Floodway และ พื้นที่แก้มลิง (Monkey Cheek) รวมทั้งต้องเป็นพื้นที่ที่มีชุมชนเข้มแข็ง อันเป็นตัวผลักดันให้โครงการสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
ทั้งนี้ จากการประชุมและสำรวจภาคสนามร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัด ได้แก่ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัด และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต ได้กำหนดพื้นที่ดำเนินการไว้ 8 แห่ง ดังนี้
จังหวัดพิษณุโลก กำหนดในพื้นที่ ตำบลชุมแสงสงคราม อำเภอบางระกำ ตำบลหนองป่าโมก อำเภอบางกระทุ่ม
จังหวัดชัยนาท กำหนดพื้นที่ ตำบลหนองขุ่น อำเภอ วัดสิงห์ และ ตำบล ศิลาดาน อำเภอมโนรมย์
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กำหนดพื้นที่ ตำบลสิงหนาท อำเภอลาดบัวหลวง และ อำเภอเสนา อำเภอบางบาล
จังหวัดปทุมธานี กำหนดพื้นที่ระหว่าง อำเภอคลองหลวง และ อำเภอหนองเสือ
จังหวัดนครปฐม กำหนดพื้นที่ อำเภอเมือง
อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินงานครั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้จัดทำแผนที่แสดงพื้นที่ที่ประสบ อุทกภัยย้อนหลัง 7 ปี และแผนที่ที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อให้คณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับ JICA ได้ใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเพิ่มเติม