การเจรจาระหว่างอิหร่านและประเทศมหาอำนาจของโลก 6 ประเทศเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านที่เป็นข้อพิพาท จะเข้าสู่วันที่สองในวันนี้ ที่กรุงแบกแดดซึ่งเป็นเมืองหลวงของอิรัก
คณะตัวแทนจากอิหร่านและ 5 ประเทศสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ประกอบด้วยสหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และจีน) รวมทั้งเยอรมนี ซึ่งรู้จักกันในนาม P5+1 พร้อมทั้งสหภาพยุโรป (อียู) ได้สิ้นสุดการเจรจาวันแรกเมื่อวานนี้ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายต่างๆในการเจรจายังไม่มีมติเป็นเอกฉันท์เกี่ยวกับแผนข้อเสนอต่างๆ
เช้าวานนี้ นายกรัฐมนตรี นูรี อัล-มาลิกิ ของอิรัก ต้อนรับนางแคทเธอรีน แอชตัน หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศสหภาพยุโรป ที่ห้องทำงานของเขา และกล่าวว่าการประชุมที่กรุงแบกแดดครั้งนี้เป็นเหตุการณ์สำคัญ
“ทุกคนกำลังเฝ้าคอยความสำเร็จของการเจรจาอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน เพราะความสำเร็จดังกล่าวจะส่งผลสะท้อนกลับในเชิงบวกต่อภูมิภาคทั้งหมด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่ออิรัก" แถลงการณ์ที่ออกโดยสำนักงานของนายมาลิกิระบุ
อิรักหวังว่า การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างประเทศที่สำคัญครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่แสดงต่อทั่วโลก หลังการประชุมสุดยอดสันนิบาตอาหรับเมื่อช่วงปลายเดือนมี.ค. ซึ่งจะยืนยันให้เห็นถึงการหลุดพ้นของอิรักจากการถูกโดดเดี่ยว ภายหลังสงครามหลายครั้งและเหตุการณ์ความไม่สงบ
สหประชาชาติได้กำหนดการคว่ำบาตรต่ออิหร่านมาหลายรอบแล้วในขณะนี้ เนื่องจากอิหร่านปฏิเสธที่จะยุติการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้ในการผลิตเชื้อเพลิงนิวเคลียร์หรือเป็นวัตถุดิบในการผลิตระเบิด
ส่วนสหภาพยุโรป สหรัฐและประเทศอื่นๆอีกบางประเทศ ได้สั่งระงับการนำเข้าน้ำมันอิหร่าน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการคว่ำบาตรเพื่อกดดันอิหร่านให้เข้าร่วมการเจรจาอีกครั้งเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ดังกล่าว นอกจากนี้ พวกเขายังคว่ำบาตรด้านการธนาคารอย่างหนัก โดยมีเป้าหมายเพื่อจำกัดความสามารถในการค้าน้ำมันของอิหร่าน ซึ่งคิดเป็น 80% ของรายได้จากต่างชาติของอิหร่าน