นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง เสียงประเมินของสาธารณชนต่อนโยบายสาธารณะลดความเดือดร้อนของประชาชนในการทำงานของรัฐบาลรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทั่วไปที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 2,441 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 20 - 26 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.1 ประเมินการทำงานของรัฐบาลว่าการแก้ปัญหายาเสพติดในชุมชนยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ดีอย่างที่คิดหรือคาดหวังไว้ เพราะ เห็นแต่จับกันในทีวีในข่าวแต่ในชุมชนยังมีการค้ายาเสพติดกันเหมือนเดิม (หน้าจอกับหน้าบ้านและในชุมชนพบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่แตกต่างกันมาก) นอกจากนี้ ยังพบเห็นแหล่งมั่วสุมในชุมชน มีการจับแล้วปล่อย พวกที่ผ่านการบำบัดออกมาก็กลับมาเสพยาค้ายากันเหมือนเดิม เป็นต้น มีเพียงร้อยละ 43.9 ที่ระบุว่าสามารถแก้ปัญหายาเสพติดในชุมชนได้ดีแล้ว นอกจากนี้ ประชาชนที่ถูกศึกษาเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 53.0 ระบุรัฐบาลชุดปัจจุบันให้ความสำคัญเพียงแค่ระดับปานกลางกับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ในขณะที่ร้อยละ 27.1 ระบุรัฐบาลให้ความสำคัญน้อยถึงไม่ให้ความสำคัญเลย อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 19.9 ระบุรัฐบาลให้ความสำคัญมากถึงมากที่สุดกับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย
เมื่อสอบถามเป็นรายโครงการ มาตรการ มติและนโยบายของรัฐบาลในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมาว่า ใครได้ประโยชน์จากโครงการต่างๆ ของรัฐบาล ผลสำรวจพบว่า โครงการเรียนฟรี 15 ปีเป็นโครงการที่ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.7 ระบุประชาชนได้ประโยชน์ ในขณะที่ร้อยละ 40.3 ระบุกลุ่มการเมืองได้ประโยชน์ และร้อยละ 12.6 ระบุกลุ่มธุรกิจได้ประโยชน์ นอกจากนี้ มาตรการรถเมล์ฟรี ลดภาระใช้จ่ายค่าน้ำปะปา และไฟฟ้า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.5 ระบุประชาชนได้ประโยชน์ ร้อยละ 62.8 ระบุกลุ่มการเมืองได้ประโยชน์ และร้อยละ 20.3 ระบุกลุ่มธุรกิจได้ประโยชน์
นโยบายเงินเดือนขั้นต่ำข้าราชการปริญญาตรี 15,000 บาท พบว่า ร้อยละ 78.1 ระบุประชาชนได้ประโยชน์ ร้อยละ 52.4 ระบุกลุ่มการเมืองได้ประโยชน์ และร้อยละ 13.4 ระบุกลุ่มธุรกิจได้ประโยชน์ ในขณะที่นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท พบว่า ร้อยละ 76.5 ระบุประชาชนได้ประโยชน์ ในขณะที่ร้อยละ 45.2 ระบุกลุ่มการเมืองได้ประโยชน์ และร้อยละ 19.7 ระบุกลุ่มธุรกิจได้ประโยชน์
สำหรับมาตรการควบคุมราคาอาหารปรุงสำเร็จ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.0 ระบุประชาชนได้ประโยชน์ ร้อยละ 41.7 ระบุกลุ่มธุรกิจได้ประโยชน์และร้อยละ 40.7 ระบุกลุ่มนักการเมืองได้ประโยชน์ นอกจากนี้ โครงการธงฟ้าราคาประหยัด พบว่า ร้อยละ 65.0 ระบุประชาชนได้ประโยชน์ ร้อยละ 52.4 กลุ่มการเมืองได้ประโยชน์ และร้อยละ 46.9 กลุ่มธุรกิจได้ประโยชน์
อย่างไรก็ตาม โครงการบ้านหลังแรก พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.3 ระบุกลุ่มธุรกิจได้ประโยชน์ ร้อยละ 48.4 กลุ่มการเมืองได้ประโยชน์ และร้อยละ 47.7 ระบุประชาชนได้ประโยชน์ นอกจากนี้ โครงการที่น่าสนใจล่าสุดคือ โครงการโชว์ห่วยช่วยชาติ ร้านถูกใจ พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.9 ระบุกลุ่มธุรกิจได้ประโยชน์ ร้อยละ 58.1 ระบุกลุ่มการเมืองได้ประโยชน์ แต่มีเพียง ร้อยละ 46.1 ที่ระบุว่าประชาชนได้ประโยชน์จากโครงการโชว์ห่วยช่วยชาติ ร้านถูกใจ
ที่น่าพิจารณาคือ สองโครงการใหญ่ได้แก่ โครงการรถยนต์คันแรก และโครงการแท็ปเลต นักเรียน ที่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.3 และร้อยละ 75.6 ระบุกลุ่มธุรกิจได้ประโยชน์จากโครงการทั้งสองตามลำดับ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อถามถึงการครอบคลุมพื้นที่ที่ประชาชนได้ประโยชน์จาก โครงการ มาตรการ มติ นโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ประชาชนส่วนใหญ่ ระบุ ทุกโครงการ ทุกมาตรการ ทุกนโยบายที่ถูกศึกษาครั้งนี้ มีปัญหาไม่ครอบคลุมพื้นที่ ยกเว้นเพียงนโยบายเรียนฟรี 15 ปีเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการแท็ปเลต นักเรียน และโครงการร้านโชว์ห่วยช่วยชาติ ร้านถูกใจที่มีร้อยละ 85.9 และร้อยละ 84.1 ระบุมีปัญหาไม่ครอบคลุมพื้นที่ เช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.3 ระบุโครงการธงฟ้าราคาประหยัดมีปัญหาไม่ครอบคลุมพื้นที่ และที่เหลือหรือเกินกว่าร้อยละ 70 ไม่ว่าจะเป็นโครงการบ้านหลังแรก นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท มาตรการควบคุมราคาอาหารปรุงสำเร็จ ที่พบว่า ร้อยละ 75.8 ร้อยละ 75.5 และร้อยละ 74.1 ระบุโครงการ นโยบาย และมาตรการเหล่านี้มีปัญหาไม่ครอบคลุมพื้นที่ของประชาชนที่ต้องการนโยบายเหล่านี้ตามลำดับ
ที่น่าสนใจคือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.0 เคยใช้บริการซื้ออาหารที่ร้านอาหารปรุงสำเร็จรับประทานในช่วง 30 วันที่ผ่านมา และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.0 ทราบว่ามีมาตรการควบคุมราคาสินค้าร้านอาหารปรุงสำเร็จ แต่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.3 ระบุไม่มีการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมราคาอาหารสำเร็จรูปดังกล่าว
นอกจากนี้ เมื่อถามถึง จุดสำคัญในกระบวนการควบคุมราคาสินค้าโดยรัฐบาล ตั้งแต่ ต้นน้ำ (คือกระบวนการผลิต เช่น วัตถุดิบ ราคาพลังงาน ค่าแรง เป็นต้น) กลางน้ำ (เช่น ค่าเช่าแผง ค่าขนส่ง การรีดไถ คอรัปชั่น กลุ่มมาเฟีย การปั่นราคาของพ่อค้าคนกลาง เป็นต้น) และปลายน้ำ (เช่น อาหารที่ปรุงสำเร็จ เป็นต้น) พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.8 อยากให้รัฐบาลควบคุมดูแลจุดสำคัญในกระบวนการควบคุมราคาสินค้าที่ “กลางน้ำ" ในขณะที่ร้อยละ 30.7 ระบุให้ดูแลที่ “ต้นน้ำ" และมีเพียงร้อยละ 5.5 ระบุอยากให้รัฐบาลดูแลที่ “ปลายน้ำ" ดังนั้นรัฐบาลน่าจะลองพิจารณาทบทวนแนวทางการช่วยเหลือราคาสินค้าและอาหารประจำวันของประชาชนเสียใหม่ให้สอดคล้องกับเสียงสะท้อนและความเป็นจริงในการแก้ไขปัญหาที่ถูกจุดมากยิ่งขึ้น
ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า โครงการช่วยลดรายจ่ายเพิ่มรายได้คืนความสุขให้กับประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ทั้งประเทศที่รัฐบาลน่าจะพิจารณาคือ การปฏิรูปจัดระเบียบรักษา DNA ด้านเกษตรกรรมของสังคมไทย โดยไม่ยอมให้มีอำนาจอื่นใดทั้งในและต่างประเทศมาดัดแปลงพันธุกรรมด้านการเกษตรของสังคมไทยให้เปลี่ยนไป เช่น การคืนพื้นที่เกษตรกรรมให้กับเกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นโดยทำให้ประชาชนสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรด้วยการเปิดพื้นที่สาธารณะเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ที่สามารถนำมาเป็นอาหารรับประทานในชีวิตประจำวันได้ในราคาที่ถูกหรือให้เปล่าขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่
นอกจากนี้ พื้นที่สาธารณะสองข้างฝั่งถนนน่าจะมีการจัดสรรพื้นที่ปลูกต้นไม้พืชผลหรือยอดใบที่รับประทานได้ผสมผสานไปกับไม้ประดับที่ทำให้พื้นที่ต่างๆ ทั้ง “สวยงามและรับประทานได้" และตามลำคลองแหล่งน้ำต่างๆ ใกล้เคียงชุมชนก็มีปลา มีการเลี้ยงสัตว์ของชุมชนเพื่อคนในชุมชนรับประทานได้เช่นกัน โดยมีกฎมีระเบียบควบคุมเพื่อการบริโภคเท่านั้น หากจะมีการแสวงหากำไรเชิงพาณิชย์ก็เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของชุมชนไม่ใช่ผลประโยชน์ส่วนตัวเพียงอย่างเดียว โดยจำเป็นต้องมีความเข้มแข็งของคนในชุมชนและเจ้าหน้าที่รัฐช่วยกันออกมาตราการป้องกันดูแลอย่างเป็นธรรมต่อไป