ก.เกษตรฯ เดินหน้าโครงการลดผลกระทบจากของเสียจากฟาร์มปศุสัตว์

ข่าวทั่วไป Wednesday June 13, 2012 12:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยผลการดำเนินการโครงการจัดการของเสียในฟาร์มปศุสัตว์ในภาคพื้นเอเชียตะวันออก พบว่า ได้ระบบบำบัดน้ำเสียที่ได้ก๊าซชีวภาพชนิด บ่อหมักรางพิเศษ ในฟาร์มสุกรขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคตะวันตกของประเทศ จำนวนรวม 20 ฟาร์ม คิดเป็นสุกรจำนวน 286,000 ตัว รวมถึงสามารถลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคการปศุสัตว์ได้ 98,000 ตันคาร์บอนไดออกไซต์ต่อปี ด้วย

โครงการดังกล่าวยังทำให้เกิดหลักปฏิบัติการทำฟาร์มสุกรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Code of Practice) ซึ่งมาจากการ Workshop ร่วมกันระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร มุ่งเน้นไปที่การบริหารจัดการฟาร์ม พื้นที่สร้างฟาร์ม มาตรฐานสุขอนามัยตามหลักสากล โดยผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้ว และอยู่ระหว่างขยายผลให้กับส่วนท้องถิ่นได้นำหลักปฏิบัติดังกล่าวไปทดลองใช้และจะเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำข้อเสนอแนะไปปรับปรุงรายละเอียดของแนวทางต่างๆ ให้เกิดความเหมาะสมภายในปี 2556 อันจะนำไปสู่การออกประกาศกรมปศุสัตว์สำหรับการนำไปปฏิบัติบริหารจัดการฟาร์มสุกรให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่อไป ตลอดจนมีแผนการจัดการพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์เพื่อความสมดุลของธาตุอาหาร และผลงานการศึกษาผลกระทบของเสียจากฟาร์มสุกรต่อสาธารณสุขชุมชน รวมถึงผลงานการศึกษาการนำของเสียจากฟาร์มสุกรในการเพาะปลูกพืช

นอกจากนั้น ยังมีการจัดทำแผนกลยุทธ์การขยายผลโครงการการจัดการของเสียในฟาร์มปศุสัตว์ในภาคพื้นเอเชียตะวันออก ซึ่งแผนกลยุทธ์ดังกล่าวจะขยายผลโครงการไปยังฟาร์มต่างๆ เพื่อให้มีระบบการจัดการของเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ การจัดทำ Carbon Footprint ในภาคปศุสัตว์ การจัดการของเสียในฟาร์มปศุสัตว์ หรือ Zero Waste ที่นำเอาของเสียจากปศุสัตว์มาใช้ประโยชน์กับการปลูกพืช โดยได้มีการจัดทำพื้นที่ทดลองระบบการจัดการของเสียในฟาร์มปศุสัตว์อย่างเต็มรูปแบบที่ อ.แปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งมีการติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องใกล้ชิด เพื่อนำมาเป็นต้นแบบการพัฒนาและขยายผลไปยังฟาร์มอื่นๆ ในอนาคต

สำหรับโครงการจัดการของเสียในฟาร์มปศุสัตว์ในภาคพื้นเอเชียตะวันออก กรมปศุสัตว์ได้รับจัดสรรงบประมาณ ตั้งแต่ปี 2549-2553 จำนวน 32.807 ล้านบาท ได้มีการใช้ไปในการดำเนินการทั้งสิ้น 30.335 ล้านบาท งบประมาณคงเหลือ 2.472 ล้านบาท ซึ่งมาจากการต่อรองราคา โดยหลังจากสิ้นสุดโครงการจะนำผลที่ได้รับไปขยายผลให้เกิดประโยชน์กับการพัฒนาฟาร์มปศุสัตว์ให้มีความหลากหลายของรูปแบบ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะช่วยในเรื่องของการบริหารจัดการฟาร์มแล้ว ยังส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อมในระยะยาวอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ