เอแบคโพลล์ปชช.70.7%เชื่อปีนี้น้ำท่วมอีก,56%เชื่อมั่นน้อยถึงไม่เชื่อมั่นรัฐบาลรับมือได้

ข่าวทั่วไป Sunday June 17, 2012 11:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง แผนป้องกันน้ำท่วมปีนี้และการปรับคณะรัฐมนตรีในสายตาประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนที่เคยประสบภัยพิบัติน้ำท่วม ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี ลพบุรี ชัยนาท ปทุมธานี สระบุรี นนทบุรี นครพนม นครราชสีมา กาฬสินธุ์นครสวรรค์ พิษณุโลก เชียงใหม่ กระบี่ สุราษฎร์ธานี และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,074 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1 -16 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา

เมื่อถามถึง ความชัดเจนเรื่องแผนการรับมือน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นในปีนี้ที่ปรากฎจากข่าวสารที่ประชาชนติดตาม พบว่า ร้อยละ 43.9 ระบุชัดเจนค่อนข้างมาก ถึงมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.1 ระบุชัดเจนค่อนข้างน้อยถึงยังไม่ชัดเจนเลย เมื่อถามถึงการคาดการณ์ของประชาชนต่อการเกิดปัญหาน้ำท่วมในปีนี้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.7 คิดว่าน้ำจะท่วมอีก อย่างไรก็ตาม เกินครึ่งเพียงเล็กน้อยหรือร้อยละ 53.3 ที่กังวลเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นอีกในปีนี้ แต่ร้อยละ 46.7 ไม่กังวล

ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.0 เชื่อมั่นค่อนข้างน้อย ถึงไม่เชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะสามารถรับมือแก้ปัญหาน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในปีนี้ ในขณะที่ร้อยละ 44.0 เชื่อมั่นค่อนข้างมาก ถึง มากที่สุด

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมเป็นปัญหาที่สาธารณชนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่รัฐบาลคงไม่สามารถทำอะไรได้ แต่รัฐบาลสามารถกำหนดนโยบายสาธารณะอย่างน้อยสองเรื่อง ได้แก่ ประการแรก การเตรียมความพร้อมรับมือเยียวยาผลกระทบจาก ภัยธรรมชาติ และเรื่องที่สอง คือ การป้องกันและลดผลกระทบความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากภัยน้ำท่วมต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั่วไป การดำเนินธุรกิจของบริษัทเอกชนและระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

“โดยสิ่งที่รัฐบาลต้องระมัดระวัง คือ ความผิดหวังซ้ำซากของสาธารณชน เพราะประชาชนมีความหวังว่ารัฐบาลจะสามารถนำบทเรียนในอดีตมากำหนดทิศทางป้องกันแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Effectiveness) มีความคุ้มค่าคุ้มทุนต่อมาตรการป้องกันแก้ไข คือ งบประมาณที่รัฐบาลใช้ไม่เกินไปกว่าที่มันควรจะเป็น (Efficiency) และมีการบริการจัดการที่ดี คือ กำหนดวางตัวบุคคลที่มีความเป็นผู้นำในการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง (Accountability) ในเวลาเดียวกันก็ต้องถ่วงดุลการใช้อำนาจหน้าที่ในการใช้จ่ายงบประมาณที่อาจถูกบิดเบือนเพื่อคนเฉพาะกลุ่มได้ด้วย เหตุเพราะปัจจัยเหล่านี้คือรากฐานสำคัญของระบบราชการในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยและรัฐบาลอาจจะอยู่ยากลำบากมากยิ่งขึ้นถ้าหากรัฐบาลทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยต่อประเด็นสำคัญทั้งสามดังกล่าวข้างต้นในหมู่ประชาชน" ผอ.สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ