ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ หลายแห่งปริมาณน้ำลดลง เนื่องจากมีการส่งน้ำเพื่อสนับสนุนพื้นที่การเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการทำนาปี ทำให้มีพื้นที่รองรับปริมาณน้ำที่จะไหลลงอ่างฯเพิ่มมากขึ้น ในช่วงฤดูมรสุม ซึ่งกรมชลประทาน ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำในเขื่อนแต่ละแห่งที่รับผิดชอบ ให้สอดคล้องกับสภาวะฝนที่ตกลงมา โดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางด้านท้ายเขื่อน พร้อมกับรายงานสถานการณ์น้ำให้ทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่ทราบอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดด้วย
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา (2 ก.ค.) เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 6,181 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 7,200 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 4,214 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 5,200 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง มีปริมาณน้ำ 49 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 50 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 229 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 24 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 700 ล้านลูกบาศก์เมตร และ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 105 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 13 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 680 ล้านลูกบาศก์เมตร
ส่วนสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(2 ก.ค.) มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 533 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (รับน้ำได้สูงสุด 3,590 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 6.35 เมตร ส่วนที่เขื่อนเจ้าพระยา ระดับน้ำเหนือเขื่อนอยู่ที่ 16.44 เมตร(รทก.) มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 106 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (รับน้ำได้สูงสุด 2,840 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาต่ำกว่าตลิ่ง 9.86 เมตร ในขณะที่มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในเกณฑ์ 230 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (รับน้ำได้สูงสุด 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจุดนี้ยังเป็นจุดวัดปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะไหลผ่านเข้าสู่กรุงเทพฯและปริมณฑลด้วย)