สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่องสาธารณชนได้อะไรจากการจัดเวทีการเมืองของกลุ่มต่างๆ ในเวลานี้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.2 เห็นว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ ในเวลานี้เป็นการแย่งชิงอำนาจ ในขณะที่ร้อยละ 22.8 ไม่คิดเช่นนั้น
นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังพบว่าประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.5 ระบุการจัดเวทีเคลื่อนไหวทางการเมืองทำกันไปเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ในขณะที่เพียงร้อยละ 25.5 ระบุเพื่อประโยชน์ของคนทั้งประเทศ และประเด็นคลิปเสียงของประธานสภาจะทำให้เกิดความขัดแย้งภายในพรรคเพื่อไทยหรือไม่ พบว่าเกินครึ่งหรือร้อยละ 53.5 คิดว่าจะทำให้เกิดความขัดแย้ง ขณะที่ประชาชนอีกส่วนร้อยละ 46.5 ไม่คิดว่าจะทำให้เกิดความขัดแย้ง
ทั้งนี้ เมื่อสอบถามถึงประเด็นสำคัญในการจัดเวทีการเมืองของกลุ่มต่างๆ ในเวลานี้ว่าได้รับทราบถึงประเด็นสำคัญอะไรบ้าง ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.1 ระบุเป็นประเด็นการสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญกลุ่มหนึ่ง แต่อีกกลุ่มหนึ่งไม่สนับสนุน รองลงมาคือ ร้อยละ 59.2 ระบุเป็นเรื่องที่กลุ่มหนึ่งสนับสนุน พ.ร.บ.ปรองดอง แต่อีกกลุ่มหนึ่งไม่สนับสนุน
ในขณะที่ร้อยละ 57.7 ระบุเป็นเรื่องที่กลุ่มหนึ่งมีจุดยืนจะเอาผิด พ.ต.ท.ทักษิณ และอีกกลุ่มหนึ่งไม่เอาผิด พ.ต.ท.ทักษิณ ร้อยละ 55.0 ระบุเป็นเรื่องการนิรโทษกรรมในทุกคดีแต่อีกกลุ่มหนึ่งต่อต้านการนิรโทษกรรม และร้อยละ 54.2 ระบุเป็นเรื่องที่กลุ่มหนึ่งต่อต้านการปฏิวัติยึดอำนาจ แต่อีกกลุ่มหนึ่งมีท่าทีสนับสนุน
ส่วนประเด็นสำคัญที่รับทราบว่ามีการพูดถึงในการจัดเวทีการเมืองของกลุ่มต่างๆ เพื่อเป็นนโยบายสาธารณะให้ผลประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ พบว่า ประชาชนส่วนน้อยหรือเพียงร้อยละ 25.1 เท่านั้นทราบว่ามีการพูดถึงการป้องกันแก้ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ ร้อยละ 12.2 ระบุว่ามีการพูดถึงสวัสดิการด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ ร้อยละ 9.9 ระบุว่าพูดถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคม ร้อยละ 6.7 ระบุว่ามีการพูดถึงแนวทางลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้กับประชาชน และเพียงร้อยละ 6.1 เท่านั้นที่ใส่ใจพูดถึงกรรมสิทธิ์ของชาวบ้านในที่ดินทำกิน
อนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จันทบุรี ลพบุรี ปทุมธานี ชลบุรี แพร่ พิษณุโลก เชียงใหม่ นครพนม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ อุดรธานี ขอนแก่น กระบี่ นราธิวาสและสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,136 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 4 — 7 กรกฎาคม 2555