สธ.สั่งคุมเข้มเชื้อโรคมือเท้าปาก หลังพบเด็กกัมพูชาป่วยตายแล้ว 64 ราย

ข่าวทั่วไป Monday July 9, 2012 16:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รมช.สาธารณสุข(สธ.) กำชับสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)ทั่วประเทศ กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กวดขันดูแลมาตรฐานความสะอาดศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนประถมศึกษาทั่วประเทศ โดยเฉพาะแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อป้องกันโรคมือเท้าปากหลังมีรายงานพบเด็กกัมพูชาป่วยเป็นโรคมือเท้าปากและเสียชีวิตในปีนี้แล้ว 64 ราย ขณะที่ในประเทศไทยปีนี้พบป่วยสูงกว่าปีที่ผ่านมากว่า 2 เท่าตัว แต่ยังไม่มีเสียชีวิต ส่วนผลตรวจเชื้อต้นเหตุในไทยมี 2 ชนิด แต่ยังไม่มีความรุนแรง

"ได้สั่งการให้กรมควบคุมโรค กรมอนามัย และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ และประสานงานกับ กทม. เพื่อดูแลมาตรฐานความสะอาดสิ่งแวดล้อมของศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนต่ำกว่าระดับประถมต้นลงมา โดยเฉพาะแนวชายแดนไทยกัมพูชา ทั้งสถานที่ โรงครัว ภาชนะใส่น้ำและอาหาร ห้องน้ำ ห้องส้วม เครื่องเล่นของเด็กทุกวัน เนื่องจากหากมีเด็กป่วยจะแพร่ติดเด็กอื่นอย่างรวดเร็ว และขอความร่วมมือครู ตรวจคัดกรองดูความผิดปกติเด็กทุกวันก่อนเข้าเรียนตอนเช้า เพื่อค้นหาความผิดปกติตั้งแต่เนิ่นๆ หากพบเด็กป่วยหรือมีอาการที่น่าสงสัยว่าอาจป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก คือมีไข้ มีตุ่มขึ้นตามมือ ตามเท้า หรือมีตุ่มขึ้นในปาก ขอให้แยกเด็กออกจากเด็กปกติ และให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ในพื้นที่ทันที เพื่อให้การดูแลรักษาโดยเร็ว และควบคุมจำกัดไม่ให้เชื้อแพร่ระบาดได้อย่างทันท่วงที" นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข กล่าว

สถานการณ์แพร่การระบาดของโรคมือเท้าปากในประเทศกัมพูชาขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขไทยได้ให้ความสนใจ และประสานกับทางการของกัมพูชาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นประเทศเพื่อนบ้านแลอยู่ในกลุ่มอาเซียนเดียวกัน แม้ว่าโรคมือ เท้า ปาก จะเป็นโรคที่พบได้ทั่วไปก็ตาม แต่เชื้อที่ตรวจพบในกัมพูชาพบเป็นชนิดรุนแรง ซึ่งเป็นเหตุในเด็กเสียชีวิตได้ และเป็นโรคที่พบในเด็กเล็กเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งยังดูแลความสะอาดตัวเองยังไม่เป็นหรือไม่ดีเท่าที่ควร จึงประมาทไม่ได้

รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า เมื่อวิเคราะห์สถานการณ์ระบาดของโรคมือ เท้า ปาก ในไทยในปีนี้ เป็นลักษณะกระจาย ไม่พบการระบาดเป็นกลุ่มใหญ่ครั้งเดียว ตั้งแต่เดือน ม.ค.-มิ.ย.55 ทั่วประเทศมีรายงานเด็กป่วย 10,813 ราย ไม่มีเสียชีวิต ผู้ป่วยในปีนี้สูงกว่าช่วงเดียวกันปี 2554 กว่า 2 เท่าตัว แต่ไม่มีเสียชีวิตเช่นกัน จากการตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการพบว่าร้อยละ 20 เป็นเชื้อไว้รัส 2 ชนิดคือ เชื้อไวรัสคอกซากี่ เอ 16 และเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 พบได้อย่างละครึ่ง

อย่างไรก็ดี โรคมือเท้าปากนี้จะพบเด็กป่วยมากขึ้นในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือน มิ.ย.เป็นต้นไปทุกปี เนื่องจากอากาศเย็นและชื้น เด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้ ส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง ร้อยละ 99 อาการจะทุเลา หายป่วยได้เอง จะมีอาการรุนแรงประมาณร้อยละ 1

"จากการวิเคราะห์อาการป่วยของเด็กไทย ยังไม่มีหลักฐานว่ามีความรุนแรงทั้งทางห้องปฏิบัติการและอาการของผู้ป่วย ประชาชนจึงไม่ต้องตระหนก โรคนี้หากได้รับการดูแลอย่างรวดเร็วและถูกวิธี จะป้องกันไม่ให้เสียชีวิตได้" นพ.สุรวิทย์ กล่าว

สำหรับเชื้อโรคมือ เท้า ปาก เป็นเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโร ติดต่อกันได้ทางสัมผัสด้วยมือ เชื้อไวรัสเข้าร่างกายทางปากโดยตรง เชื้อไวรัสปนเปื้อนในน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากตุ่มพอง แผลในปาก หรืออุจจาระ ติดไปกับมือของเด็ก ติดไปกับมือที่ไม่สะอาดและไปสัมผัสอาหาร ของเล่น หรือวัสดุอื่นๆ ทำให้เชื้อติดต่อสู่เด็กคนอื่นๆ เพราะฉะนั้นต้องสอนให้เด็กล้างมืออย่างถูกวิธี ทั้งหน้ามือ หลังมือ ซอกนิ้ว ข้อมือ เล็บมือ หากล้างมือได้ดีก็จะไม่เกิดการติดต่อของโรคนี้ โดยเฉพาะพี่เลี้ยงเด็กเล็ก ต้องล้างมือ ฟอกสบู่ทุกครั้งก่อนป้อนอาหาร ป้อนนมเด็กทุกครั้ง รวมถึงปฎิบัติตามมาตรการการทำความสะอาด สถานเลี้ยงเด็ก และโรงเรียน เช่น การทำความสะอาด และการทำลายเชื้อ อย่างเคร่งครัด

"สถานการณ์ระบาดของโรคมือเท้าปากที่เกิดขึ้นที่กัมพูชายังไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยและเด็กไทย" นพ.สุรวิทย์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ ขอแนะนำว่าผู้ปกครองไม่ควรพาเด็กเล็กไปเที่ยวในประเทศที่มีการระบาดโรคสูง หรือหากเดินทางไปแล้ว เมื่อกลับมาแล้วป่วยควรแจ้งให้กรมควบคุมโรคทราบว่าเดินทางกลับจากพื้นที่ เพื่อจะได้ดำเนินการควบคุมป้องกันโรคอย่างรวดเร็ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ