ครม.เห็นชอบกำหนดเขตพื้นที่จัดการน้ำเสียขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ข่าวทั่วไป Tuesday July 10, 2012 17:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกำหนดเขตพื้นที่จัดการน้ำเสีย ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)เสนอ ในพื้นที่ต่างๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้มาตรการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ของรัฐ เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นดำเนินการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย เพื่อรวบรวมและบำบัดน้ำเสียชุมชนก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติรวมแล้ว 101 แห่ง ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณ 83,000 ล้านบาท มีความสามารถในการบำบัดน้ำเสีย (Capacity) รวม 3.2 ล้าน ลบ.ม./วัน คิดเป็นร้อยละ 22.8 ของปริมาณน้ำเสียชุมชนที่เกิดขึ้นทั้งประเทศ โดยเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 7,852 แห่ง เห็นได้ว่าประเทศไทยต้องดำเนินการจัดการน้ำเสียในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ องค์การจัดการน้ำเสีย(อจน.) ได้ดำเนินการจัดทำแผนการบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นรูปแบบการบริหารจัดการแบบใหม่เพื่อให้การบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลคุ้มกับงบประมาณที่รัฐได้ลงทุนไว้แล้ว และสามารถแก้ไขปัญหาน้ำเสียในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน

โดย อจน. ได้ประเมินศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ต่างๆ คัดเลือกพื้นที่ในการดำเนินงานที่มีศักยภาพและมีความพร้อม พื้นที่ที่มีความสำคัญทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม และความพร้อมของผู้บริหารท้องถิ่นที่มีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย และพร้อมที่จะสนับสนุนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการบำบัดน้ำเสีย

โดยในปีแรก อจน.จะเข้าดำเนินการ ซ่อมแซม ปรับปรุง ฟื้นฟู ระบบบำบัดน้ำเสีย เดินระบบและบำรุงรักษาระบบบำบัดน้ำเสีย พร้อมกับการเตรียมความพร้อมการจัดเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการบำบัดน้ำเสีย รวมถึงการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้

สำหรับการดำเนินงานในปีถัดไป อจน.จะดำเนินการบริหารจัดการเดินระบบและบำรุงรักษาระบบ จัดเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการบำบัดน้ำเสีย เพื่อมาเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการเดินระบบและบำรุงรักษาระบบฯ ประชาสัมพันธ์และรณรงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจ่ายค่าธรรมเนียม/ค่าบริการบำบัดน้ำเสีย พัฒนาต่อยอดการนำน้ำเสียและกากตะกอนกลับมาใช้ประโยชน์ และพัฒนาศักยภาพและเตรียมความพร้อมให้ท้องถิ่น เพื่อถ่ายโอนภารกิจงานคืนเมื่อครบระยะเวลาตามข้อตกลงร่วม เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถดำเนินการต่อได้ด้วยตนเอง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ