นางรัตนาวลี อินโอชานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี บมจ. ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า ปตท. และ กรมควบคุมมลพิษ ได้ร่วมมือกันดำเนินโครงการศึกษาแนวทางการจัดการก๊าซโอโซนระดับผิว เพื่อประสานความร่วมมือกันในการศึกษาแนวทางการจัดการก๊าซโอโซนระดับผิวพื้นในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาความรู้ความเข้าใจในการจัดการก๊าซโอโซนมากยิ่งขึ้น และจะเป็นแนวทางและมาตรการสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาก๊าซโอโซนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
รวมทั้งยังจะทำให้การบริหารจัดการคุณภาพอากาศของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกลุ่ม ปตท. ในการดำเนินธุรกิจควบคู่กับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้จะเริ่มทำการศึกษานำร่องในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ตั้งแต่เดือนก.ค.2555-มิ.ย.2557 รวมระยะเวลา 2 ปี
ด้านนายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ในช่วงปี 2544—2554 พบว่าระดับก๊าซโอโซนเกินค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก๊าซโอโซนที่ระดับความเข้มข้นดังกล่าวนี้ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและระบบนิเวศของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมากรมควบคุมมลพิษได้กำหนดมาตรการในการควบคุมแหล่งกำเนิดของก๊าซโอโซนอย่างเคร่งครัดแล้ว แต่มีข้อสันนิษฐานว่าการเปลี่ยนแปลงประเภทเชื้อเพลิงไปสู่แก๊สโซฮอลที่มากขึ้นในภาคการขนส่งของประเทศได้เพิ่มสารประกอบอินทรีย์ในบรรยากาศ จึงทำให้ปริมาณโอโซนเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในเขตพื้นที่เมือง อาทิ พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
นอกจากนี้การศึกษาวิจัยในต่างประเทศยังชี้ให้เห็นว่าการเผาในที่โล่งจะทำให้เกิดการปลดปล่อยสารตั้งต้นได้ และส่วนหนึ่งยังมาจากการส่งผ่านทางอากาศข้ามแดนหรือข้ามทวีป ดังนั้นความร่วมมือกันระหว่าง กรมควบคุมมลพิษ และ ปตท. ในครั้งนี้ นอกจากจะนำไปสู่การกำหนดมาตรการควบคุมที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงแล้ว ที่สำคัญยังจะช่วยบรรเทาปัญหามลภาวะของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย