3 หน่วยงานภาครัฐจับมือเข้มเอาผิดทางกฎหมายผู้ผลิตปุ๋ยปลอมอย่างเด็ดขาด

ข่าวทั่วไป Friday July 20, 2012 12:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังแถลงข่าวเรื่องการปราบปรามปุ๋ยปลอมว่า ได้มีการประสานงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(ปคบ.)เพื่อดำเนินการทางด้านกฎหมายและมีการประกาศภารกิจนี้ว่า“เจอปลอม จับจริง"นับตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2555 เป็นต้นไป ควบคู่กับการดำเนินมาตรการเชิงรุกของ 3 หน่วยงาน ซึ่งมีทั้งการตรวจสอบ ติดตาม ดำเนินคดี จับกุมผู้ผลิต

ส่วนการผลิตปุ๋ยปลอมมี 4 มาตรการสำคัญ ดังนี้ 1) การเฝ้าระวังร้านค้าและโรงงานผู้ผลิต 2) กรณีร้านค้าหรือโรงงานผลิตที่พบว่ามีการกระทำความผิด จะดำเนินการจับกุมและบังคับใช้กฎหมายสูงสุดอย่างเด็ดขาดทันที ซึ่งจะมีการลงพื้นที่แบบจัดเต็ม และจัดหนักในทุกข้อกฎหมาย 3) กรณีพ่อค้าเร่ที่มีการนำปุ๋ยปลอม ยาฆ่าแมลงต่าง ๆ มาเร่จำหน่ายให้เกษตรกรในพื้นที่จะถือว่ามีความผิด 2 ทาง คือ ผิดทั้งจำหน่าย และผลิต พรบ.ขายตรงที่กำกับดูแลโดย สคบ.เพราะสินค้าประเภทปุ๋ยกฎหมายไม่อนุญาตให้ดำเนินการขายตรง 4) ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรได้เลือกซื้อปัจจัยการผลิตในร้านค้าที่ทางราชการให้การรับรอง

นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรยังมีโครงการที่จะผลักดันให้สหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศที่ดำเนินธุรกิจจำหน่ายปุ๋ยให้แก่สมาชิกและเกษตรกรทั่วไป ซึ่งมีจำนวน 3,200 แห่ง เข้าร่วมโครงการร้านจำหน่ายสารเคมีทางการเกษตรที่มีคุณภาพ หรือ Q Shop ปัจจุบันมีร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ 300 ร้านค้าทั่วประเทศ

“ในฤดูการเพาะปลูกนี้ เราจะดำเนินการอย่างดีที่สุด เข้มข้นที่สุด เพื่อให้ผลผลิตของชาวเกษตรกรปลอดจากพิษภัยของปัจจัยการผลิตปลอม และจะดำเนินการต่อเนื่องให้เป็นแนวปฏิบัติของ 3 หน่วยงานต่อไป" รมช.เกษตรฯ กล่าว

ด้านนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า จากการตรวจสอบของเกษตรกรที่แจ้งเบาะแส ร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยปลอม ยาปลอม และปัจจัยการผลิตปลอมในภาคการเกษตร มีมูลค่าความเสียหายมาก ซึ่งทำให้ประเทศไทยได้รับความเสียหาย ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมวิชาการเกษตร และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค จะดำเนินการอย่างเด็ดขาดกับผู้ที่กระทำความผิด อีกทั้ง โรงงานที่ทำการผลิตสินค้าปลอม ก็จะดำเนินการตรวจสอบและปิดโรงงานดังกล่าว หรือแม้กระทั่งร้านที่พิมพ์ฉลากที่ไม่ได้รับอนุญาต จะมีการดำเนินคดีทางแพ่งและอาญา ภายใน 7 วันและจะมีการปราบปรามอย่างเด็ดขาด พร้อมฝากเตือนร้านค้าต่างๆ ถ้าหากสงสัยสินค้าใดเป็นสินค้าปลอม เสื่อมคุณภาพ หรือคนที่นำมาขายให้อาจจะไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ตรวจสอบกับกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ที่ดูแลรับผิดชอบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ