ตลาดเบียร์ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วของเอเชียแปซิฟิกกำลังกลายเป็นจุดยุทศาสตร์ที่ร้อนระอุ หลังจากนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของบริษัทไทย เบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดของไทยได้ยื่นข้อเสนอซื้อหุ้นบริษัท เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ (F&N) ผู้ดำเนินธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม อสังหาริมทรัพย์ และสิ่งพิมพ์ของสิงคโปร์ จากธนาคารโอเวอร์ซี-ไชนีสแบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น (OCBC) และบริษัทเกรทอีสต์เทิร์นโฮลดิงส์ ซึ่งเป็นบริษัทประกันในเครือ จำนวน 22% ในวงเงิน 2,780 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 70,056 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัท ไคน์เดส เพลส กรุ๊ปส์ ของนายโชติพัฒน์ พีชานนท์ บุตรเขยของนายเจริญ ยังยื่นข้อเสนอซื้อหุ้นจำนวน 8.2% ในบริษัทเอเชียแปซิฟิกบริวเวอรีส์ (APB) ผู้ผลิตเบียร์ Tiger ของสิงคโปร์ และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดในตลาดเอเชียแปซิฟิก
หากข้อเสนอดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์ จะส่งผลให้ไทยเบฟกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน F&N และรองลงมาคือ บริษัท คิริน โฮลดิงส์ หนึ่งในผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ของญี่ปุ่นที่ถือหุ้นอยู่ที่ 15%
การสยายปีกทางธุรกิจไปสู่ตลาดเอเชียแปซิฟิกของไทยเบฟนับเป็นความเคลื่อนไหวที่กล้าหาญของนักธุรกิจไทย แต่ก็ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับบริษัทไฮเนเก้น โฮลดิ้ง เอ็นวี ผู้ผลิตเบียร์ยักษ์ใหญ่อันดับสามของโลกจากฮอลแลนด์ซึ่งมองว่าการรุกคืบของกลุ่มทุนไทยถือเป็นภัยคุกคามมากกว่าคู่แข่ง เนื่องจาก F&N ถือหุ้นใน APB 40% ขณะที่ไฮเนเก้นถือหุ้น 42% และไฮเนเก้นยังถือหุ้นโดยตรงใน APB อีก 9.5%
เพื่อปกป้องสถานะของบริษัทจากการเข้าฮุบกิจการของไทยเบฟ ที่กำลังขยายธุรกิจไปยังกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่สำคัญ ไฮเนเก้นได้ยื่นข้อเสนอในวงเงิน 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (7.5 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์) เพื่อเข้าซื้อหุ้นส่วนที่เหลือใน APB
ฌอง-ฟรองซัว ฟาน บ๊อกซ์เมียร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไฮเนเก้นเปิดเผยว่า ไฮเนเก้นให้ความสำคัญกับการเป็นหุ้นส่วนกับ F&N มากว่า 80 ปี แต่เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงในการถือหุ้นของ F&N และ APB ทำให้โครงสร้างความเป็นหุ้นส่วนต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย พร้อมกับระบุว่า บริษัทจะยื่นข้อเสนอซื้อหุ้นส่วนที่เหลือทั้งหมดใน APB ในราคาหุ้นละ 50 ดอลลาร์สิงคโปร์
นักวิเคราะห์ระบุว่า ความเคลื่อนไหวของไฮเนเก้นในครั้งนี้ เป็นการปกป้องผลประโยชน์ของตนในภูมิภาคซึ่งมีอัตราการเติบโตในระดับสูงและอุปทานเบียร์กำลังขาดแคลน
การปกป้องราคาแพง
นักวิเคราะห์มองว่า ข้อเสนอ 50 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อหุ้นเป็นราคาที่สูงเกินไป เนื่องจากสูงกว่าทั้งราคาปิดที่ราว 42 ดอลลาร์สิงคโปร์และสูงกว่าราคาเสนอซื้อของบริษัทของนายโชติพัฒน์ที่ 45 ดอลลาร์สิงคโปร์
เอียน แชคเคิลตัน นักวิเคราะห์ของบริษัทโนมูระในลอนดอนกล่าวว่า “ไฮเนเก้นได้ถูกกระตุ้นให้ต้องดำเนินการจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะบรรลุผลตามข้อเสนอ แต่ก็มองว่าไฮเนเก้นอาจจะต้องจ่ายเงินมากกว่านั้น และสิ่งที่ชัดเจนก็คือสถานะดังกล่าวไม่ใช่การแก้ปัญหาในระยะยาว"
ข้อเสนอในธุรกรรมดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 17 เท่า ของรายได้ก่อนหักค่าดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และ การไถ่ถอนหลักทรัพย์ของ APB ในช่วง 12 เดือนซึ่งสิ้นสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในขณะที่การซื้อธุรกิจเบียร์ที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไปในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีค่าเฉลี่ยก่อนหักภาษีและอื่นๆ อยู่ที่ 13 เท่า
ศึกชิงความได้เปรียบ
รายงานระบุว่า กลุ่มนายเจริญได้เก็บสะสมหุ้น F&N อย่างเงียบๆ และถือหุ้นใน F&N แล้วถึง 37% ในรูปของนอมินี และยังเข้าไปนั่งในบอร์ดผู้บริหารของทั้ง F&N และ APB อีกด้วย
ดังนั้น ความหวังของไฮเนเก้นจึงอาจไม่ราบรื่นนัก หากต้องการเข้าไปมีอำนาจในการบริหาร F&N และ APB เพราะหากกลุ่มนายเจริญมีหุ้นอยู่แล้ว 37% การทำข้อตกลงในครั้งนี้อีก 22% จะส่งผลให้กลุ่มนายเจริญถือหุ้นใน F&N เกิน 50%
APB ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2474 ในชื่อ มาลายัน บริวเวอรีส์ และเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง F&N ของสิงคโปร์และไฮเนเกน และได้เปลี่ยนชื่อเป็น APB ในปี 2533 ตามนโยบายในการขยายธุรกิจไปยังตลาดเอเชียของบริษัท
ปัจจุบัน APB มีโรงกลั่นเบียร์ 30 แห่งใน 13 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ กัมพูชา จีน อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย มองโกเลีย นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี หมู่เกาะโซโลมอน ศรีลังกา ไทย เวียดนาม และ นิวแคเลโดเนียของฝรั่งเศส และเป็นเจ้าของแบรนด์เบียร์กว่า 40 แบรนด์ ซึ่งรวมไปถึง Tiger, Heineken, Anchor, Baron’s strong Brew, ABC Extra Stout, Archipelago และ Bintang โดยบางแบรนด์ยังทำการตลาดในทั่วโลก
APB มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักค่าดอกเบี้ย ภาษี และ รายการปรับปรุง (EBIT) ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2555 ที่ 443.1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (1.119 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้น 102.2 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ 30% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
บริษัทระบุว่า 44.6% ของกำไรดังกล่าวนั้น ส่วนใหญ่มาจากประเทศไทยและกลุ่มประเทศอินโดจีน อันได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา และ ลาว
เมื่อพิจารณาตัวเลขดังกล่าวแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ไทยเบฟจะมีความเคลื่อนไหวดังกล่าว เพราะถึงแม้ว่าบริษัทจะเป็นผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดของไทยและเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเบียร์ยักษ์ใหญ่ของเอเชีย แต่ก็มียอดขายเพียง 1.3219 แสนล้านบาทในปี 2554 เพิ่มขึ้น 9.7% จาก 1.2047 แสนล้านบาทในปี 2553 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ไม่สูงนักเมื่อเทียบกับรายได้ของ APB
นอกจากนี้ 25% ของรายได้ของไทยเบฟยังมาจากธุรกิจเบียร์ ขณะที่ 64% มาจากธุรกิจสุราและ 8% มาจากธุรกิจเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ และ 3% จากธุรกิจอาหาร การขยายตลาดไปยังเอเชียแปซิฟิกจะทำให้สัดส่วนรายได้จากธุรกิจเบียร์ในภูมิภาคของบริษัทเพิ่มขึ้นอีกเป็นอย่างมาก
แต่ถึงแม้ว่าไฮเนเก้นจะมีสัดส่วนรายได้จากตลาดเอเชียแปซิฟิก เพียงไม่ถึง 1% ของอาณาจักรเบียร์ทั่วโลกของบริษัท แต่แนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องและในอัตราค่อนข้างสูง เนื่องจากกำลังเป็นเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่ของโลกที่มีการเติบโตสูง จึงทำให้เอเชียแปซิฟิกกลายเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่สำคัญ
นอกจากนี้ APB ยังได้รับสิทธิในการกลั่นเบียร์ Bintang ในอินโดนีเซียเบียร์ Anchor ในจีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ ศรีลังกา และเบียร์ไฮเนเก้นตั้งแต่ในจีนไปจนถึงในนิวซีแลนด์ ซึ่งเท่ากับว่าไทยเบฟจะมีสิทธิ์ผลิตเบียร์ไฮเนเก้นในประเทศดังกล่าวโดยปริยายหากบรรลุข้อตกลง
นายฮิวจ์ ยัง กรรมการผู้จัดการของอเบดีน แอสเสท เมเนจเมนท์ เอเชีย ในสิงคโปร์กล่าวว่า APB เป็นทรัพย์สินที่เหมาะสมสำหรับไฮเนเก้นมากกว่า เนื่องจาก APB เป็น DNA ทางธุรกิจของไฮเนเก้น เพราะไฮเนเก้นเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทอย่างแท้จริง ดังนั้นข้อเสนอ 50 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อหุ้นจึงเป็นราคาที่ค่อนข้างสูงเกินไป แต่ระบุว่า APB ก็เหมาะสมที่จะเป็นของไทยเบฟเช่นกัน
วัดกันที่ทุน
ถึงแม้ว่าไทยเบฟจะมีความได้เปรียบในขั้นแรก แต่นักวิเคราะห์บางคนมองว่า การบรรลุข้อตกลงยังไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก เนื่องจากไทยเบฟมีเงินสดเพียง 108 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 31 มีนาคม ในขณะสื่อบางแห่งระบุว่า ไทยเบฟ มีแผนทำธุรกรรมทั้งหมดด้วยเงินกู้ยืม และกำลังเจรจากับธนาคารเอชเอสบีซี, สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด และซูมิโตโม มิตซุย ไฟแนนเชียล กรุ๊ป เพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรม โดยจะการปล่อยกู้ในรูปแบบ Bridge Loan ซึ่งเป็นเงินกู้ในระยะสั้น ไปจนกว่าไทยเบฟจะหาแหล่งทุนสนับสนุนอื่นๆ ได้
ด้านหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานว่า คิริน โฮลดิ้งส์ ของญี่ปุ่นก็กำลังเจรจากับธนาคารเพื่อเสนอซื้อ APB เพื่อเข้าควบคุมกิจการด้วยเช่นกัน โดยแหล่งข่าววงในเปิดเผยว่า คิรินจะไม่นิ่งเฉยในเรื่องดังกล่าว เพราะไม่ต้องการสูญเสียการเข้าถึงตลาดที่เป็นที่ดึงดูดอย่างมากแห่งนี้
ด้านไฮเนเก้นระบุว่า บริษัทจะใช้ทั้งเงินสดและเงินกู้ยืมในการเสนอซื้อหุ้น APB เนื่องจากต้องดำเนินการในสถานการณ์ที่ฉุกเฉิน
ผลกระทบต่อเงินบาท
นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย แสดงความเห็นว่า การที่บริษัทไทยใช้เงินจำนวนมากในการซื้อหุ้นบริษัทในต่างประเทศอาจส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอ่อนตัวลงในตลาดปริวรรตเงินตรา
นางผ่องเพ็ญกล่าวว่า “การลงทุนในต่างประเทศส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงในตลาดปริวรรตเงินตรา แต่ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี เนื่องจากความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะนำไปสู่สภาวะที่สมดุลและช่วยให้เงินบาทไม่แข็งค่าหรืออ่อนค่ามากจนเกินไป โดยอาจจะทำให้เงินบาทผันผวนในระดับหนึ่งแต่ก็ยังไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้"
ถึงแม้ว่าการแข่งขันในครั้งนี้คงจะไม่มีใครยอมใคร แต่คอลัมน์ In Focus ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับคนไทยในความพยายามขยายธุรกิจไปยังระดับโลก เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับคนไทย อีกทั้งยังสามารถสร้างชื่อเสียงในด้านธุรกิจให้กับประเทศได้อีกด้วย