นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ตามที่มีรายงานพบกระต่ายเป็นโรคพิษสุนัขบ้าและกัดเจ้าของเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนเกิดความตระหนกนั้น ขณะนี้กรมปศุสัตว์ร่วมกับ สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการสอบสวนหาที่มาของการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าของกระต่ายในครั้งนี้เพื่อจะได้ควบคุมและกำจัดแหล่งที่มาของโรค ต่อไป ทั้งนี้ การเกิดโรคในกระต่ายที่เลี้ยงนั้นโอกาสที่จะพบได้น้อยมาก เพราะโอกาสที่จะสัมผัสโรคต่ำ อาจเกิดจากถูกสัตว์พาหะนำโรค เช่น หนู หรือแมว หรือสุนัข ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด
อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงกระต่ายและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ เช่น ลิง ชะนี กระรอก กระแต หากผู้เลี้ยงไม่มั่นใจว่าจะป้องกันการสัมผัสกับสัตว์พาหะนำโรค ให้ป้องกันโรคโดยการนำกระต่ายหรือสัตว์เลี้ยงเหล่านี้ตั้งแต่อายุ 3 เดือนขึ้นไปไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจากสัตวแพทย์ โดยให้ฉีดกระตุ้นเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1 เดือน หลังจากนั้นให้ฉีดป้องกันทุกปีๆละ 1 ครั้ง
ทั้งนี้ โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสและเกิดได้ในสัตว์เลือดอุ่นที่เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว โค กระบือ แพะ แกะ สุกร ค้างคาว และสัตว์ป่า รวมถึงคน ขึ้นกับโอกาสที่จะได้รับเชื้อและการเลี้ยงดู ประเทศไทยและประเทศในเอเชียพบมากในสุนัข และแมว
จากสถิติในประเทศไทยพบว่าโรคพิษสุนัขบ้ากว่า 95% พบในสุนัข และประมาณ 3% พบในแมวที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า สุนัขและแมวจรจัดมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเป็นโรคนี้