น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้วันนี้ว่า ที่ประชุมไม่ได้มีการพิจารณาประกาศใช้เคอร์ฟิวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
"การประกาศเคอร์ฟิวส์ไม่ใช่การแก้ไขปัญหา แต่ต้องทำความเข้าใจก่อน" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า การประชุมครั้งนี้จะเป็นการต่อยอดจากนโยบายและยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องให้นำไปสู่การปฏิบัติที่เกิดผล โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมก่อนเกิดเหตุ มีระบบเตือนภัยที่มีข้อมูลชัดเจน มีการแก้ปัญหาเมื่อเกิดเหตุโดยมีขั้นตอนปฏิบัติที่ชัดเจน พร้อมกับการเสริมสร้างความเข้าใจ ลดความหวาดระแวงต่อกัน เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใน ในขณะที่ต้องมีการพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนควบคู่ไปด้วย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณดำเนินการในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ในปี 55 แต่ยังไม่ดำเนินการนั้น ต้องไม่นำงบประมาณไปใช้นอกพื้นที่ แต่ให้นำไปจัดทำแผนงาน โครงการที่ตอบสนองเป้าหมายยุทธศาสตร์ร่วม 29 ข้อและข้อสั่งการ 6 ข้อของนายกรัฐมนตรีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง Safety Zone และกล้อง CCTV
นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า การตั้งศูนย์ปฏิบัติการอยู่ภายใต้ศูนย์ขับเคลื่อนฯ ที่มี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ดูแลอยู่ไม่ได้เป็นการทำงานซ้ำซ้อนแต่อย่างใด เป็นเพียงการนำเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบอยู่มาทำงานภายใต้กรอบวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ ซึ่งจะเป็นเอกภาพในการทำงาน
สำหรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ วิเคราะห์ ซึ่งสิ่งที่ดำเนินการประกอบด้วยหลายหน่วยงาน 17 กระทรวง 66 หน่วยงาน จึงมีความต้องการการบูรณาการอย่างเป็นระบบ และคณะกรรมการชุดดังกล่าวก็จะทำงานสนับสนุนในพื้นที่ เพราะฉะนั้นรัฐบาลไม่ลืมที่จะดูแลความมั่นคง รวมถึงการพัฒนา การสร้างความเข้าใจ และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นอีกภาระกิจที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และจะร่วมกันติดตามแก้ไขปัญหาให้เกิดสันติสุขโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังขอความร่วมมือสื่อมวลชนในการเสนอข่าวที่อาจทำให้ประชาชนเป็นกังวลได้ พร้อมขอเวลาให้เจ้าหน้าที่ทำงาน พร้อมเป็นกำลังใจประชาชนและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ส่วนเรื่องความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านก็มีการร่วมมือดูแลสถานการณ์ตาม แนวชายแดนอยู่แล้ว
ด้าน พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้เป็นการรับทราบความคืบหน้าในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเห็นชอบในหลักการเรื่องการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศปก.จชต.)เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพและเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการติดตามการดำเนินงานจากระดับพื้นที่ขึ้นมาในระดับสูงเพื่อพิจารณาตกลงใจแก้ปัญหา โดยมี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เข้ามาช่วยเสริมการทำงานด้านข้อมูลเพื่อให้มีการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วตรงกัน
สำหรับผลคืบหน้าของการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ที่สำคัญได้มีการเร่งรัดดำเนินการตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ร่วมในเรื่องการเสริมสร้างความปลอดภัย และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีใน 4 เรื่อง คือ 1.การจัดให้มีเขตรักษาความปลอดภัย(Safety Zone)เป็นการเฉพาะ โดยเน้น 13 พื้นที่ ประกอบด้วยพื้นที่เศรษฐกิจในเมืองสำคัญและชุมชนสาธารณะ 7 พื้นที่ คือ อ.เมือง จ.ปัตตานี, อ.เมือง จ.ยะลา, อ.เบตง จ.ยะลา, อ.เมือง จ.นราธิวาส, อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส, อ.ตากใบ จ.นราธิวาส และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
รวมทั้งพื้นที่ที่มีสถานการณ์และเหตุการณ์ความรุนแรงบ่อยครั้งอีก 6 พื้นที่ คือ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี, อ.ธารโต จ.ยะลา, อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส, อ.ระแงะ จ.นราธิวาส, อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส และ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา
2.การติดตั้งกล้องทีวีวงจรปิด(CCTV) ครอบคลุมทุกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 3.การจัดให้มีการตั้งด่านตรวจที่ ต.ควนมีด อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และ 4.การตรวจสอบการย้ายถิ่นของบุคคล และการเคลื่อนย้ายยานพาหนะ และให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับประเทศมาเลเซีย