นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในสายตาประชาชน จากตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 2,363 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 7 — 11 สิงหาคม 2555 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 46.7 ติดตามข่าวปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากถึงมากที่สุด และร้อยละ 25.4 ติดตามค่อนข้างมาก ในขณะที่ร้อยละ 17.6 ติดตามค่อนข้างน้อย และร้อยละ 10.3 ติดตามเพียงเล็กน้อยถึงไม่ติดตามเลย
โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.6 รู้สึกเป็นห่วงมากถึงมากที่สุดต่อสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และร้อยละ 8.4 เป็นห่วงค่อนข้างมาก มีเพียงร้อยละ 1.6 และร้อยละ 1.4 เท่านั้นที่รู้สึกเป็นห่วงค่อนข้างน้อยและรู้สึกเป็นห่วงเพียงเล็กน้อยถึงไม่เป็นห่วงเลย ทั้งนี้ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.6 ได้ส่งกำลังใจและความช่วยเหลืออื่นๆ ไปให้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในระดับมากถึงมากที่สุด และร้อยละ 14.5 ได้ส่งกำลังใจให้ค่อนข้างมาก ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 3.1 และเพียงร้อยละ 1.8 เท่านั้นที่ส่งกำลังใจไปให้ค่อนข้างน้อย และน้อยถึงไม่ได้ส่งไปเลย
ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.0 เห็นด้วย ถึงเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะต้องเพิ่มสวัสดิการให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยผู้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และร้อยละ 7.9 ค่อนข้างเห็นด้วย ในขณะที่เพียงร้อยละ 3.1 และเพียงร้อยละ 2.0 เท่านั้นที่ไม่ค่อยเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยถึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง
ส่วนช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมหรือไม่ ที่คนไทยทุกคนทุกภูมิภาคต้องช่วยกันส่งความรัก ความเกื้อกูลไปยังประชาชนทุกคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผลสำรวจพบว่า เกือบร้อยละร้อยหรือร้อยละ 97.7 เห็นว่า เหมาะสมแล้ว ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 2.3 ที่ระบุยังไม่เหมาะสม และตัวอย่างเกือบทั้งหมดหรือร้อยละ 99.4 ที่ปลื้มปิติมาก ถึงมากที่สุดที่ทราบข่าว พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนารถ ทรงพระราชทานความช่วยเหลือห่วงใยไปยังประชาชนทุกหมู่เหล่าในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แนะส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.5 ระบุควรให้โอกาสรัฐบาลทำงานแก้ไขความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป ในขณะที่ร้อยละ 8.7 ระบุไม่ควรให้โอกาส และร้อยละ 23.8 ไม่มีความเห็น
ส่วนความสนใจในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่จะมีขึ้นในครั้งนี้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 40.6 สนใจมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 21.0 สนใจค่อนข้างมาก ร้อยละ 17.4 สนใจค่อนข้างน้อย และร้อยละ 21.0 สนใจน้อยถึงไม่สนใจเลย นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.4 เห็นด้วยที่นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะตอบข้อซักถามชี้แจงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ด้วยตนเอง ในขณะที่ร้อยละ 35.9 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 6.7 ไม่มีความเห็น
ขณะที่ความเห็นเฉพาะกลุ่มคนที่สนใจติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจถึงประเด็นที่อยากให้อภิปรายไม่ไว้วางใจ พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 85.0 อยากให้อภิปรายปัญหาของแพง ค่าครองชีพสูง ปัญหาปากท้อง รองลงมาคือ ร้อยละ 84.6 ระบุปัญหา ยาเสพติด ร้อยละ 81.1 ระบุการยกระดับสินค้าการเกษตรให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ร้อยละ 80.5 ระบุ ปัญหาความแตกแยกของคนในชาติ เรื่องความปรองดอง ร้อยละ 78.3 ระบุปัญหาการจ่ายค่าเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบภัยพิบัติธรรมชาติ ร้อยละ 78.1 ระบุปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และรองๆ ลงไปคือ การปฏิรูปการเมือง การช่วยเหลือผู้ประกอบการจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและเงินเฟ้อ การรับจำนำข้าว และแทปเล็ตให้โรงเรียน แจกเด็กนักเรียนใช้ ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.8 ต้องการให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจนำไปสู่การช่วยกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาเดือดร้อนของประชาชนร่วมกัน มากกว่าการนำไปสู่การเปลี่ยนรัฐบาลที่มีอยู่เพียงร้อยละ 11.2
ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ชัดว่า คนไทยเกือบทั้งประเทศมีความเห็นและความรู้สึกร่วมไปในทิศทางเดียวกันต่อปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ความห่วงใย ความสนใจติดตามข่าว สวัสดิการต่อข้าราชการชั้นผู้น้อย และช่วงเวลาที่ทุกคนในชาติต้องส่งความรักความเกื้อกูลช่วยเหลือกันไปยังประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และความปลื้มปิติของประชาชนคนไทยทั้งประเทศต่อพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนารถ จึงน่าจะถึงเวลาอันเหมาะสมที่ประชาชนทุกคนในชาติจะต้องเรียกหา “จิตวิญญาณของความเป็นคนไทย" ที่รู้รักสามัคคีและตระหนักถึงบุญคุณของแผ่นดินไทยที่ประชาชนทุกคนต้องเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อจะทำให้ประเทศชาติและประชาชนทุกหมู่เหล่าอยู่รอดได้อย่างมั่นคงปลอดภัย
ทั้งนี้ฝ่ายการเมืองจึงน่าจะคำนึงถึงบทบาทสำคัญของ “การเมือง" ที่จะต้องรักษาสถาบันทางการเมืองของประเทศที่มีอยู่ให้เป็นสถาบันที่ช่วยลดความขัดแย้งมากกว่านำสถาบันต่างๆ มาเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งของคนในชาติ ทั้งนี้เพื่อประเทศชาติจะได้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างเจริญมั่นคงโดยไม่สดุดในการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข