องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) จัดงานแถลงข่าวเมื่อวานนี้เพื่อเรียกร้องให้นานาชาติปรับนโยบายจัดการความเสี่ยงด้านภัยแล้งให้มีการประสานงานและเป็นไปในเชิงรุกมากขึ้น หลังจากสหรัฐเผชิญกับภัยแล้งรุนแรงและส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อตลาดอาหารโลก
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นายมานนาวา สิวาคูมาร์ ผู้อำนวยการฝ่ายคาดการณ์สภาพอากาศและการปรับตัวของ WMO กล่าวว่า สหรัฐกำลังเผชิญกับภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2438 และพื้นที่ 63% ของประเทศได้รับผลกระทบจากภัยแล้งตั้งแต่ระดับปานกลางจนถึงมากที่สุดเมื่อสิ้นเดือนกรกฎาคม
นอกจากสหรัฐแล้ว อินเดียก็กำลังเผชิญภัยแล้งขั้นรุนแรงเช่นกัน โดยทั่วประเทศมีปริมาณฝนตกน้อยกว่าปกติถึง 70% ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการผลิตอาหาร
นายสิวาคูมาร์ระบุว่า ในขณะเดียวกัน ประชาชนกว่า 2.5 ล้านคนในเม็กซิโกก็กำลังได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้ง ส่วนบางพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรปอย่างเช่นโรมาเนียและสโลวีเนียก็มีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นและขาดแคลนน้ำ
นายไมเคิล จาร์โรด์ เลขาธิการ WMO กล่าวว่า "ภาวะโลกร้อนส่งผลให้ความถี่ ความรุนแรง และช่วงเวลาของภัยแล้งเพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อหลายๆภาคส่วน ทั้งอาหาร น้ำ สุขภาพ และ พลังงาน"
"เราต้องปรับเปลี่ยนจากแนวทางการจัดการปัญหาแบบแยกส่วน และปรับปรุงนโยบายภัยแล้งระดับประเทศที่อิงกับความเสี่ยงร่วมกัน"
นายสิวาคูมาร์ชี้ว่า ออสเตรเลียเป็นเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่มีการกำหนดนโยบายภัยแล้งและ "นโยบาย" ก็ดีกว่า "แผนการ" ตรงที่ทุกขั้วอำนาจทางการเมืองต้องปฏิบัติตาม
WMO ซึ่งเป็นอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการรับมือกับภาวะแห้งแล้ง และพันธมิตรอื่นๆ จะร่วมกันจัดการประชุมระดับสูงเกี่ยวกับนโยบายภัยแล้งนานาชาติในวันที่ 11-15 มีนาคม 2556