นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการทำฝนหลวงเพื่อร่วมกับหน่วยภาคพื้นดินในการควบคุมและดับไฟไหม้ป่าพรุควนเคร็งว่า สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร ได้จัดส่งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงไปตั้งฐานที่สนามบิน จ.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2555 เพื่อทำฝนดับไฟป่าพรุควนเคร็งรวมทั้งช่วยเหลือพื้นที่เกษตรกรรมที่ประสบภัยแล้งในทุกอำเภอของจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี และตอนบนของจังหวัดสงขลาที่ร้องขอเพิ่มเติมมา
ในระยะแรกมีเครื่องบินกาซ่า ไปปฏิบัติการเพียง 1 ลำ เนื่องจากเครื่องบินลำอื่นๆติดภารกิจทำฝนหลวงแก้ไขปัญหาภัยแล้งในทุกภาคของประเทศ ต่อมาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2555 จึงได้ส่งเครื่องบินคาราแวนไปสนับสนุนเพิ่มเติมอีก 3 ลำ รวมเป็น 4 ลำ
ทั้งนี้ การปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงเดือนมิถุนายน ได้ขึ้นปฏิบัติการรวม 5 วัน มีฝนตกในพื้นที่เป้าหมายด้านการเกษตรรวม 4 วัน แต่ยังไม่สามารถบังคับให้เกิดฝนบริเวณป่าพรุควนเคร็งได้ เนื่องจากกระแสลมตะวันตกมีกำลังแรงมาก ต่อมาในช่วงเดือนกรกฎาคม ได้ขึ้นบินทำฝนรวม 22 วัน มีฝนตกในพื้นที่เป้าหมายด้านการเกษตรรวม 20 วัน เป็นฝนที่ตกในบริเวณป่าพรุควนเคร็ง 13 วัน ทำให้ความรุนแรงของไฟป่าพรุลดลงได้ระดับหนึ่ง แต่ในเดือนสิงหาคมยังคงมีการจุดไฟเผาป่าพรุเพิ่มเติม ทำให้ปัญหาไฟไหม้ป่าพรุมีความรุนแรงมากขึ้น จึงได้สั่งการให้สำนักฝนหลวงและการบินเกษตรจัดส่งเครื่องบินคาราแวนจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ไปสนับสนุนเพิ่มเติมอีก 3 ลำ รวมเป็น 4 ลำ โดยผลการทำฝนหลวงระหว่างวันที่ 1-20 สิงหาคม 2555 ขึ้นบินปฏิบัติการรวม 15 วัน จากผลการตรวจกลุ่มฝนด้วยเรดาร์ของสถานีตรวจอากาศภูเก็ต พบว่ามีฝนตกในพื้นที่เป้าหมายด้านการเกษตรรวม 15 วัน และมีฝนตกในบริเวณป่าพรุควนเคร็งรวม 9 วัน โดยเป็นฝนเล็กน้อยถึงปานกลางและเป็นฝนหนักในบางวัน โดยเฉพาะในการขึ้นโจมตีเมฆเหนือบริเวณป่าพรุเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2555 ทำให้มีฝนตกหนาแน่นนานกว่า 30 นาที และได้รับรายงานจากหน่วยภาคพื้นดินว่าไฟป่าพรุและกลุ่มหมอกควันลดลงทั่วไป แต่ยังมีอีกหลายจุดที่ยังคงคลุกลุ่นอยู่
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงดับไฟป่าพรุควนเคร๊ง จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆภาคพื้นดิน ต่อไปจนกว่าจะสามารถดับไฟป่าพรุได้สำเร็จสมบูรณ์ในที่สุด
รมว.เกษตรฯ กล่าวต่อว่า ในช่วงเดือนมิถุนายน - สิงหาคมของทุกปี ถือเป็นระยะของฝนทิ้งช่วงตามฤดูกาลปกติ ซึ่งส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนโดยรวมของประเทศลดน้อยลง ทำให้พืชผลทางการเกษตรในหลายพื้นที่ทุกภาคของประเทศเริ่มได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ได้แก่ ภาคเหนือ ส่วนใหญ่ทางตอนล่างของภาค โดยเฉพาะจังหวัดลำปาง พิจิตร สุโขทัย กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์ ภาคกลาง เกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดลพบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี และกาญจนบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกือบทุกจังหวัด ยกเว้นหนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ภาคตะวันออก บางจังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง สระแก้ว จันทบุรี และ ภาคใต้ ส่วนใหญ่ทางฝั่งตะวันออก ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สงขลาสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช รวมถึงมีไฟไหม้ป่าพรุควนเคร็ง
ขณะเดียวกัน ในช่วงเดือนสิงหาคมปีนี้ ได้เกิดพายุหมุนเขตร้อนหลายลูกติดต่อกันในแถบประเทศฟิลิปปินส์แล้วเคลื่อนตัวขึ้นไปทางตอนล่างของประเทศจีน ทำให้กระแสลมที่พัดผ่านประเทศไทยไปสู่ศูนย์กลางของพายุมีกำลังแรง และมีเมฆชั้นกลางชั้นสูงหนาแน่นปกคลุมท้องฟ้า บดบังความร้อนจากแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเกิดเมฆฝน และเป็นอุปสรรคต่อการทำฝนหลวง คือ เมฆฝนจะก่อตัวช้าแต่เคลื่อนที่เร็วตามกระแสลม เมื่อตกเป็นฝนจะผ่านไปเร็ว ทำให้มีปริมาณน้ำฝนต่อพื้นที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็น
อย่างไรก็ตาม คาดว่าสภาพอากาศที่เป็นสาเหตุของฝนทิ้งช่วงจะผ่านพ้นไปประกอบกับตำแหน่งการก่อตัวและแนวการเคลื่อนที่ของพายุหมุนเขตร้อนจะเลื่อนต่ำลงมาและโอกาสที่จะเกิดฝนในประเทศไทยจะเพิ่มสูงขึ้นในระยะต่อไป
สำหรับการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือ ซึ่งได้สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคทุกศูนย์เพิ่มจำนวนหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงและระดมปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งอย่างเร่งด่วน และคาดหมายว่าในช่วงครึ่งหลังของเดือนสิงหาคม สภาวะที่กระแสลมตะวันตกมีกำลังแรง และปริมาณเมฆชั้นกลางที่ปกคลุมท้องฟ้าจะลดลง ซึ่งจะสามารถเพิ่มปริมาณและการกระจายของฝนได้ดีขึ้น และสถานการณ์ภัยแล้งจะเริ่มคลี่คลายไป