นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดทางแพ่งเพื่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมัน พ.ศ. …. หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาแล้วตามที่กระทรวงคมนาคม(คค.)เสนอ และให้ส่งสำนักคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
โดยสาระสำคัญของกฎหมาย คือ กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับกับความเสียหายจากมลพิษที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทย ซึ่งรวมถึงทะเลอาณาเขตและในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของราชอาณาจักรไทย และค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้มาตรการในการป้องกันมิให้เกิดความเสียหายในพื้นที่ดังกล่าว และกำหนดให้พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับกับเรือรบ หรือเรืออื่นใดซึ่งรัฐถือกรรมสิทธิ์ หรือดำเนินการในกิจการของรัฐซึ่งมิได้มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ โดยให้ใช้บังคับกับเรือของรัฐภาคีแห่งอนุสัญญาซึ่งใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์
การกำหนดความรับผิดนั้น กำหนดให้เจ้าของเรือในขณะเกิดอุบัติการณ์ หรือในขณะเกิดเหตุการณ์ครั้งแรก ในกรณีที่อุบัติการณ์ประกอบด้วยเหตุการณ์ต่อเนื่อง ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากมลพิษอันเป็นผลของอุบัติการณ์ดังกล่าว และกำหนดให้เจ้าของเรือไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายจากมลพิษหากพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเป็นผลมาจากสงคราม การกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ สงครามกลางเมือง การจลาจล หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงและป้องกันได้ หรือเกิดขึ้นจากบุคคลที่สามทำให้เกิดความเสียหายนั้น หรือเกิดขึ้นทั้งหมดจากความประมาทเลินเล่อหรือการกระทำโดยมิชอบของรัฐหรือหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ดูแลหรือบำรุงรักษาประภาคารหรือเครื่องช่วยการเดินเรืออื่นๆ ในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว
ขณะที่บทลงโทษนั้น กำหนดให้เรือไทยหรือเรือต่างประเทศที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ นายเรือและเจ้าของเรือลำนั้นต้องระวางโทษปรับคนละไม่เกิน 2 ล้านบาท และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจหน่วงเหนี่ยวเรือลำดังกล่าวจนกว่าเรือลำนั้นจะได้แก้ไขหรือปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และกำหนดให้นายเรือลำใดไม่อาจแสดงใบรับรองตามที่กำหนดเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ร้องขอ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 5,000 - 20,000 บาท