นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่มีร่องมรสุมกำลังแรงเคลื่อนตัวลงมาพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ซึ่งจะทำให้พื้นที่ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคกลาง และภาคตะวันออกมีฝนตกชุกหนาแน่นและตกหนักถึงหนักมาก ระหว่างวันที่ 3-7 ก.ย.นี้ จึงทำให้ต้องมีการบริหารน้ำในเขื่อนสำคัญดังนี้
เขื่อนวชิราลงกรณ์(เขื่อนเขาแหลม) ให้ลดการระบายน้ำลงเหลือวันละ 22 ล้านลบ.เมตร เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย. ซึ่งน้ำที่ระบายจากเขื่อนวชิราลงกรณ์สามารถผันผ่านเข้าสู่แม่น้ำท่าจีนซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้
เขื่อนศรีนครินทร์ ให้คงการระบายน้ำที่วันละ 10 ล้านลบ.เมตร จนถึงวันที่ 1 ก.ย. และหลังจากนั้นให้ลดลงไปเหลือวันละ 8 ล้านลบ.เมตร เขื่อนอุบลรัตน์ ปัจจุบันระดับน้ำต่ำกว่าเกณฑ์จึงให้เก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร
เขื่อนภูมิพล ปัจจุบันสามารถรับน้ำได้อีกราว 6,000 ล้านลบ.เมตร ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์ สามารถรับน้ำได้อีกราว 4,000 ล้านลบ.เมตร ซึ่งถือว่าเพียงพอต่อการป้องกันน้ำล้นเขื่อนอันเนื่องจากฝนตกใต้เขื่อนให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อความต้องการ จึงให้ระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลวันละ 8 ล้านลบ.เมตร และเขื่อนสิริกิติ์ให้ลดการระบายน้ำลงเหลือวันละ 8 ล้านลบ.เมตร
"จะทำให้สถานการณ์น้ำโดยรวมในจุดที่สำคัญ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา ที่จ.นครสวรรค์ ที่มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 953 ล้านลบ.เมตร/วินาที ซึ่งเทียบกับปีที่แล้วที่น้ำเหนือไหลลงมาที่ 2,500 ล้านลบ.เมตร/วินาที ปีนี้ปริมาณน้ำไหลลงมาในระดับปกติ โดยความสูงของแม่น้ำสายหลัก คือ แม่น้ำเจ้าพระยา ที่ จ.นครสวรรค์ ยังต่ำกว่าตลิ่ง 4.98 เมตร หรือราว 5 เมตร" รองโฆษกฯ ระบุ
ทั้งนี้ สำหรับเขื่อนภูมิพล น้ำได้ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำประมาณ 22 ล้านลบ.เมตร/วัน ซึ่งปัจจุบันมีน้ำ 49% เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีถึง 96% ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำไหลเข้าเข้าอ่างเก็บน้ำประมาณ 53 ล้านลบ.เมตร/วัน ซึ่งปัจจุบันมี 56% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีถึง 94% ซึ่งถือว่าสถานการณ์น้ำในปัจจุบันอยู่ในระดับปกติ