วุฒิสภา นัดลงมติถอดถอน"สุเทพ"กรณีแทรกแซงก.วัฒนธรรม 18 ก.ย.

ข่าวทั่วไป Friday September 7, 2012 14:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การประชุมวุฒิสภาวันนี้เป็นวาระเพื่อพิจารณาเรื่องด่วน เพื่อดำเนินการถอดถอนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ออกจากตำแหน่ง อันเนื่องจากสมัยที่ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีได้ใช้อำนาจแทรกแซงกระทรวงวัฒนธรรม ตามการชี้มูลความผิดของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) โดยนายกล้าณรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช.แถลงเปิดสำนวนคดี โดยระบุว่า การที่นายสุเทพ ส่ง ส.ส.ไปช่วยราชการกระทรวงวัฒนธรรมในวันที่ 2 มี.ค.52 และถูก รมว.วัฒนธรรมปฏิเสธ จึงนำเอกสารคืนในวันที่ 3 มี.ค.

การกระทำของนายสุเทพ ถือว่าเข้าข่ายการก้าวก่ายเนื่องจากนายสุเทพ ไม่ได้เป็น รมว.วัฒนธรรม และแม้มีหนังสือมอบหมายงานจากนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่มีช่องกฎหมายเปิดให้นายสุเทพ สามารถเข้าไปแต่งตั้งหรือสั่งบุคคลใดเข้าไปทำงานในกระทรวงวัฒนธรรมได้ อีกทั้งพบว่านายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีคนอื่นๆ หรือแม้แต่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีก็ไม่ได้รับทราบเรื่องนี้

และท้ายที่สุดข้ออ้างที่นายสุเทพระบุว่า ได้มีการนำรายชื่อคืนและไม่มีการแต่งตั้งนั้น ป.ป.ช.เห็นว่าเรื่องดังกล่าวมีการทำความผิดแล้ว เพราะมีการคิดตระเตรียมตัดสินใจและดำเนินการกล่าวคือ การคิด การจัดทำรายชื่อและส่งไปที่กระทรวงวัฒนธรรม

นายกล้าณรงค์ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวแม้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)เคยมีมติด้วยเสียงข้างมากว่าการกระทำของนายสุเทพไม่เข้าข่ายใช้ตำแหน่งหน้าที่เข้าไปก้าวก่าย แต่ กกต.ถือเป็นองค์กรอิสระเช่นเดียวกับ ป.ป.ช. ดังนั้นมติของ กกต.จึงไม่ผูกพันถึง ป.ป.ช. ดังนั้น ป.ป.ช. จึงมีสิทธิที่จะหยิบเรื่องดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาได้อีกครั้ง

ขณะที่นายสุเทพ ได้ชี้แจงว่าการส่ง ส.ส.ไปช่วยงานกระทรวงวัฒนธรรมไม่มีเจตนาทุจริตใดๆ เพราะ ส.ส.ที่ไปช่วยงาน เป็นไปในลักษณะการอาสา ไม่ได้รับผลประโยชน์เงินเดือนหรือสิ่งตอบแทนใดๆ แต่ทั้งนี้หนังสือจากสำนักนายกรัฐมนตรีที่ส่งไปยังกระทรวงวัฒนธรรมได้นำกลับมาทันทีเมื่อถูกท้วงติงว่าอาจขัดต่อกฎหมาย และผลจากการนำหนังสือกลับมา ทำให้ รมว.วัฒนธรรมไม่เคยได้เปิดอ่าน และไม่เคยมี ส.ส.คนใดตามที่ปรากฎรายชื่อในหนังสือเข้าไปปฏิบัติงานในกระทรวงวัฒนธรรมแม้แต่รายเดียว

พร้อมย้ำว่า เรื่องนี้ กกต.ได้เคยมีมติแล้วว่าการกระทำของตนไม่ขัดต่อกฎหมาย เพราะหนังสือดังกล่าวเป็นเพียงการแจ้งให้ทราบความประสงค์ว่ามี ส.ส. ต้องการเข้าไปช่วยงาน ไม่ได้เป็นลักษณะของคำสั่ง อีกทั้ง รมว.วัฒนธรรมยังสามารถมีดุลยพินิจพิจารณาเรื่องได้ด้วยตัวเอง

ทั้งนี้หนังสือของตนเองไม่ได้นำมาซึ่งประโยชน์ส่วนตัว และไม่ได้นำไปสู่ความเสียหายของสาธารณะหรือความเสียหายของผู้ใด ทั้งยืนยัน ไม่มีความจงใจเมื่อทำไปแล้วมีการทักท้วงว่าผิดกฎหมาย จึงยกเลิกการดำเนินการทันที

หลังฟังการแถลงเปิดคดี ของ ป.ป.ช.และการชี้แจงของนายสุเทพแล้ว นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุมได้แจ้งให้ทั้ง 2 ฝ่ายทราบถึงการส่งคำแถลงปิดสำนวนคดีด้วยลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ 13 ก.ย. แต่หากคู่กรณีต้องการแถลงปิดด้วยวาจาก็จะมีการหารือเรื่องกำหนดวันอีกครั้ง จากนั้นได้เข้าสู่ขั้นตอนการเปิดโอกาสให้ ส.ว.ได้เสนอญัตติสอบถามเพิ่มเติมเพื่อเป็นการซักถามคู่ความ ซึ่งได้มีการเสนอให้เป็นการประชุมลับ

ก่อนหน้านี้ วุฒิสภา กำหนดประชุมครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยวางกรอบกระบวนการ และขั้นตอนการพิจารณาถอดถอน นายสุเทพ โดยเชิญทั้ง ป.ป.ช.และนายสุเทพ รับฟังด้วย ซึ่งกำหนดให้ชี้แจงทั้งหมด 5 ครั้ง นัดแรกวันที่ 7 กันยายน เป็นวันแถลงเปิดสำนวน และตั้งคณะกรรมาธิการซักถาม วันที่ 11 กันยายน จะเป็นการซักถาม โดยเป็นคำถามจากสมาชิกวุฒิสภา ผ่านคณะกรรมาธิการซักถาม วันที่ 17 กันยายนจะเป็นวันนัดแถลงปิดคดีด้วยวาจา พร้อมส่งเป็นเอกสาร แต่จะนัดหมายในวันที่ 18 กันยายน เพื่อลงมติถอดถอนหรือไม่ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ