กบอ.ชี้น้ำท่วมภาคเหนือเกิดจากน้ำหลากไม่ใช่น้ำล้นตลิ่ง มั่นใจน้ำไม่ท่วมกทม.

ข่าวทั่วไป Monday September 10, 2012 14:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรอยล จิตรดอน ประธานคณะอนุกรรมการติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์น้ำและจัดสรรน้ำ ในคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กบอ.ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยยืนยันถึงสาเหตุน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนขณะนี้ว่า ไม่ได้เกิดจากน้ำล้นตลิ่ง แต่เกิดจากการระบายน้ำที่ไม่เท่ากันในแต่ละคลอง

โดยจังหวัดสุโขทัยเกิดน้ำท่วมเนื่องจากพนังกั้นน้ำถูกกัดเซาะจากด้านล่าง และปริมาณน้ำยังต่ำกว่ากำแพงกั้นน้ำกว่า 1 เมตร ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แสดงความเป็นห่วงในที่ประชุม และมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยเร่งให้การช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ขณะเดียวกันให้ใช้การทยอยพร่องน้ำไปยังทุ่งอยุธยาและเขื่อนเจ้าพระยา เพราะหากเร่งระบายน้ำมากเกินไปจะทำให้ตลิ่งพัง พร้อมให้ความมั่นใจว่าน้ำจะไม่ท่วมขัง เนื่องจากคาดว่าในปีนี้ปริมาณน้ำฝนมีปริมาณน้อยกว่าปีที่แล้ว 20%

อย่างไรก็ดี มีความเป็นห่วงสถานการณ์น้ำในเขื่อนวชิราลงกรณ์และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่ปริมาณน้ำยังมีมาก แต่ได้เริ่มการระบายไปแล้ว ส่วนการระบายน้ำที่เขื่อนภูมิพลที่รองรับน้ำได้ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน และเขื่อนสิริกิติ์ที่รองรับน้ำได้ 70-80 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน ก็ยังเป็นไปตามแผนที่วางไว้

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน ยืนยันว่า สามารถบริหารจัดการน้ำในภาคเหนือได้ทั้งพื้นที่เหนือเขื่อนและใต้เขื่อนเก็บน้ำขนาดใหญ่ เนื่องจากยังมีศักยภาพในการรองรับน้ำ อีกทั้งยังได้ลดระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาลงเพื่อให้สามารถรองรับน้ำได้อีก 30-50 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน พร้อมให้ความเชื่อมั่นว่าน้ำจะไม่เข้าท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ เนื่องจากประตูระบายน้ำในช่วงปลายน้ำยังไม่ถึงขั้นวิกฤติและที่ผ่านมาได้มีการทดสอบการระบายน้ำแล้ว

นายวิบูลย์ สงวนพงษ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) ระบุว่า จะเร่งดำเนินการซ่อมทางรถไฟสายเหนือที่จังหวัดลำพูนให้แล้วเสร็จวันพรุ่งนี้(11 ก.ย.) เพื่อให้การเดินรถไฟกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และในระยะยาวก็จะแก้ปัญหาร่องน้ำที่ทำให้ดินบนรางรถไฟยุบตัว ทั้งนี้จากการประชุมคณะกรรมการปฏิบัติการพื้นที่กลางน้ำพบว่าใน 4 อำเภอของ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำและเกิดน้ำท่วมบ่อยครั้งอยู่แล้ว ซึ่งประชาชนในพื้นที่ก็เข้าใจและรับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ ในส่วนของปัญหาวิกฤติภัยแล้งที่มีการประกาศยกเลิกไปก่อนหน้านี้ 4 จังหวัด คือ สงขลา, สุรินทร์, ชัยภูมิ และมหาสารคามนั้น คาดว่าในวันพรุ่งนี้จะสามารถประกาศยกเลิกได้เพิ่มเติมอีก 3 จังหวัด คือ พัทลุง, นครศรีธรรมราช และบุรีรัมย์ ส่วนที่จังหวัดสุราษฏร์ธานียังมีปัญหาขาดแคลนน้ำจืดในเฉพาะพื้นที่เกาะต่างๆ ซึ่งคาดว่าในวันพรุ่งนี้สถานการณ์ต่างๆ จะเริ่มคลี่คลาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ