นาง Irina Bokova ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก เข้าเยี่ยมคารวะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยตามคำเชิญของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเข้าร่วมในพิธีเปิดการประชุมระดับรัฐมนตรีเอเชียและแปซิฟิกด้าน ICT ในการพัฒนาการศึกษา ประจำปี 55 โดยได้กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่จัดงานเพื่อการศึกษา และรู้สึกดีใจที่เห็นว่านายกรัฐมนตรีให้ความสนใจด้านการศึกษา
ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เรื่องการศึกษาจะต้องใช้เวลาและได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่ ซึ่งหวังว่าองค์การยูเนสโกจะให้การสนับสนุนไทยต่อไป ทั้งนี้รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับการศึกษาเพื่อลดช่องว่างของประเทศ จึงได้ริเริ่มโครงการ One Tablet Per Child เพื่อแจกจ่ายแท็ปเล็ตให้แก่เด็กชั้นประถมศึกษา เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ในชั้นเรียนและหวังใช้เทคโนโลยีสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้แก่เยาวชน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นว่าองค์การยูเนสโกมีประสบการณ์ ความรู้ความเชี่ยวชาญ และทรัพยากรที่สามารถช่วยพัฒนาประเทศได้ โดยไทยต้องการให้ความรู้แก่เยาวชนไทยผ่านแท็ปเล็ต
ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก กล่าวว่า การศึกษาไม่เพียงเป็นเครื่องมือเพื่อพัฒนาเท่านั้น แต่ยังช่วยในด้านสาธารณสุข วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ ทั้งนี้ยูเนสโกได้ริเริ่มโครงการศูนย์การเรียนชุมชนในปี 2541 ภายใต้กรอบงานของโครงการการศึกษาเพื่อปวงชนในเอเชียและแปซิฟิก เพื่อเป็นศูนย์กลางการจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชนในชุมชน
ปัจจุบันศูนย์การเรียนชุมชนในไทยมีกว่า 8,000 แห่งทั่วประเทศ โดยศูนย์ฯ ที่อยุธยาได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปลายปีที่แล้ว โดยผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโกกล่าวชื่นชมนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลไทยที่สามารถฟื้นฟูศูนย์การเรียนชุมชนได้อย่างรวดเร็ว โดยเห็นว่ารูปแบบการดำเนินงานและแนวปฏิบัติของไทย เช่น ด้านการเรียนการสอน(Literacy) การฝึกสอนครู(Teacher training) ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประเทศเพื่อนบ้านและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศเมียนมาร์
ด้านนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโกได้กล่าวชื่นชมประเทศไทยที่เป็นผู้นำด้านวาระการศึกษาในระดับโลก และเน้นย้ำถึงความสำคัญของความเคลื่อนไหวของการศึกษาเพื่อปวงชน ซึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นที่หาดจอมเทียนเมื่อปี 2533 และชี้ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นด้านการศึกษาของไทย ซึ่งใช้แนวคิดและรูปแบบของประชาธิปไตย และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เชิงนวัตกรรมต่างๆ อาทิ รูปแบบศูนย์การเรียนรู้ชุมชน และโครงการแจกแท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ให้แก่นักเรียนในระดับประถมศึกษา