(เพิ่มเติม) กบอ.สำรองชีทพลายเผื่อขยายทางน้ำยมไหลผ่าน ยอมรับกระทบ 200 ครัวเรือน

ข่าวทั่วไป Wednesday September 12, 2012 16:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.)เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและอุทกภัยโดยเฉพาะในพื้นที่ จ.สุโขทัยว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำอยู่ในขั้นทรงตัว

แต่ได้ประสานวิศวกรของกรมชลประทานที่รับผิดชอบการซ่อมประตูระบายน้ำบางโฉมศรี จ.ลพบุรี เดินทางเข้าไปสำรวจรอยรั่วที่กำแพงกั้นแม่น้ำยมแล้วเพื่อประเมินสถานการณ์ ทั้งนี้ได้เตรียมแนวผนังกั้นน้ำคอนกรีต(ชีทพลาย)ไว้แล้วซึ่งหากมีความจำเป็นก็สามารถดำเนินการได้ เพราะอาจจะมีการขยายแนวทางไหลของน้ำให้กว้างมากขึ้น โดยยอมรับว่าอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนประมาณ 200 ครัวเรือน ซึ่งเบื้องต้นได้มีเตรียมมาตรการเยียวยาสำหรับประชาชนในพื้นที่ไว้แล้ว

ขณะเดียวกันได้มีการสั่งการให้เฝ้าระวังในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ นครสวรรค์, สิงห์บุรี และอ่างทอง โดยให้สำรวจกำแพงกั้นน้ำซึ่งมีลักษณะคล้ายกับแนวคันกั้นแม่น้ำที่จังหวัดสุโขทัย และให้รายงานสถานการณ์น้ำมายัง กบอ.ภายใน 48 ชั่วโมง

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมที่ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา คาดว่าจะมีน้ำท่วมขังประมาณ 1-2 เดือน เนื่องจากพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำและมีน้ำท่วมขังเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว

นายปลอดประสพ ยืนยันว่า รัฐบาลยังสามารถบริหารจัดการน้ำได้ดีและไม่ได้เป็นไปตามที่ฝ่ายค้านแสดงความเป็นห่วง ซึ่งหากดูจากแผนบริหารจัดการน้ำที่รัฐบาลดำเนินการตั้งแต่หลังเกิดมหาอุทกภัยปี 54 จะเห็นว่ารัฐบาลได้มีการเตรียมการและซักซ้อมแผนมาโดยตลอด ส่วนพื้นที่รับน้ำ 2 ล้านไร่ที่ได้จัดเตรียมไว้นั้น จะใช้เป็นที่รับน้ำก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น ซึ่งในขณะนี้การบริหารจัดการน้ำยังคงเป็นไปตามแผนที่วางไว้

ด้านนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ที่ประชุม กบอ.ได้มีการกำหนดจุดเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำ คือ บริเวณ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา โดยวันพรุ่งนี้(13 ก.ย.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเดินทางลงไปดูในพื้นที่บริเวณโรงเรียนประชากรรังสฤษดิ์ ต.บางหลวง อ.บางบาล ซึ่งกรมชลประทานจะทำเป็นสถานีข้อมูลเพื่อรายงานระดับน้ำที่ไหลจากแม่น้ำเจ้าพระยา และหากนายกรัฐมนตรีเห็นด้วยที่จะให้เป็นจุดต้นแบบในการแก้ไขปัญหา ก็จะให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.)ไปตั้งจุดแจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบระดับน้ำ เพื่อให้ประชาชนเตรียมตัวขนย้ายสิ่งของและอพยพออกจากพื้นที่ได้ทันการณ์

ส่วนจะมีการกำหนดจุดอื่นหรือไม่นั้น คงต้องขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เพราะการกำหนดจุดเสี่ยงครั้งนี้ กรมชลประทานกำหนดไว้ที่ 1,800 ลบ.เมตร/วินาที แต่หากมีความจำเป็นต้องระบายมากกว่า 2,000 ลบ.เมตร/วินาที จุดที่ต้องเฝ้าระวังคือ อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี

หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปยังสถานีตรวจวัดน้ำที่ค่ายจิรประวัติ จ.นครสวรรค์ เพื่อรับฟังรายงานปริมาณน้ำ และจะเดินทางต่อไปยัง จ.สุโขทัย เพื่อตรวจจุดที่น้ำลอดใต้พนังกั้นน้ำ ซึ่งทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เร่งส่งเครื่องสูบน้ำจำนวน 50 เครื่องเข้าไปยังในพื้นที่แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ