นายวิม รุ่งวัฒนจินดา เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วมในภาคกลาง(พื้นที่กลางน้ำ)นั้น รัฐบาลได้ดำเนินการผันน้ำจากลุ่มน้ำยมให้ไปสู่ลุ่มน้ำน่าน เพราะขณะนี้มีปริมาณน้ำในลุ่มน้ำยมจำนวนมาก เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องทางตอนบนและไม่มีอ่างเก็บน้ำรองรับ ซึ่งแตกต่างจากลุ่มน้ำวังและปิงที่มีเขื่อนภูมิพลรับน้ำ ส่วนลุ่มน้ำน่านมีเขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนนเรศวรรองรับและควบคุมปริมาณน้ำได้ ดังนั้นการผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำจะช่วยลดปริมาณมวลน้ำก้อนแรกที่จะไหลลงพื้นที่ตอนล่างได้ด้วย
ทั้งนี้การผันน้ำโดยโครงข่ายน้ำลุ่มน้ำยม-ลุ่มน้ำน่านผ่านคลองหกบาทเพื่อเข้าแม่น้ำน่านโดยจะเข้าไปยังจังหวัดพิจิตร ที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาข้าวและนาบัวนับเป็นวิถีชีวิตที่ประชาชนอยู่กับน้ำ โดยน้ำจะไหลตามพื้นที่ลุ่มต่ำโดยเฉพาะพื้นที่ที่ท่วมซ้ำซากทุกปี พร้อมกับไหลไปยังบึงที่เป็นเสมือนแก้มลิงที่รัฐบาลดำเนินการไว้ตามงบประมาณ 1.2 แสนล้านบาท เช่น บึงบางระกำ, บึงตะเคร็ง, บึงระมาณ และบึงขี้แร้ง ซึ่งมีลักษณะพื้นที่สาธารณะจังหวัดพิษณุโลก
นายวิม กล่าวว่า ต้องเฝ้าระวังการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำเหนือเขื่อนด้วย เพราะขณะนี้สถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเปิดประตูระบายน้ำอยู่ที่ 1,820 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เพราะหากปริมาณน้ำเหนือเพิ่มสูงขึ้นและจำเป็นต้องเปิดประตูระบายน้ำเพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลต่อปริมาณน้ำโดยเฉพาะพื้นที่บริเวณริมแม่น้ำ เช่น อ.บางบาล, อ.เสนา, อ.บางปะอิน และ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น