กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานว่า ปัจจุบันยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลำปาง อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ ชัยนาท สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ชัยภูมิ และจังหวัดปราจีนบุรี ครอบคลุมพื้นที่รวม 43 อำเภอ 232 ตำบล 1,278 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 57,729 ครัวเรือน 142,537 คน
สำหรับสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศมีปริมาตรน้ำในอ่างฯ รวม 46,997 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 67 น้อยกว่าปี 2554 จำนวน 11,845 ล้าน ลบ.ม. โดยอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลมีปริมาตรน้ำ 7,395 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 55 และอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาตรน้ำ 6,015 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 63
ส่วนสภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ จำนวน 1,766 ลบ.ม./วินาที ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท จำนวน 1,774 ลบ.ม./วินาที เขื่อนพระรามหก จ.พระนครศรีอยุธยา จำนวน 201 ลบ.ม./วินาที
ปริมาณน้ำฝนสูงสุดวานนี้ อบต.เกาะช้าง อ.เกาะช้าง จ.ตราด (200.0 มม.), อบต.บางระกำ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม(134.0 มม.) และ อบต.นาคา อ.สุขสำราญ จ.ระนอง(83.5 มม.)
ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้สั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เตรียมความพร้อมรับสถานการณและแจ้งประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณที่ลาดเชิงเขา ที่ราบต่ำริมน้ำไหลผ่านและพื้นที่เสี่ยงภัยของจังหวัด ทราบเกี่ยวกับภัยอันเกิดจากฝนตกหนัก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม สร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ในระยะ 4-5 วันนี้
ส่วนพื้นที่ที่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน(ภัยแล้ง) นับตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค.55 จนถึงปัจจุบันมีจำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และจังหวัดพัทลุง ครอบคลุมพื้นที่ 41 อำเภอ 310 ตำบล 3,497 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 309,340 ครัวเรือน 858,644 คน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายประมาณ 1,691,775 ไร่