นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นเรื่อง แนวทางการวิจัยก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตรภายใต้กรอบความร่วมมือพันธมิตรนานาชาติการวิจัยก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตร (Global Research Alliance on Agricultural Greenhouse Gases: GRA) ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรในฐานะผู้ประสานงานกลางของ GRA เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับลำดับความสำคัญงานวิจัยก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย และเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการวิจัยก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตร รวมทั้งสร้างเครือข่ายพันธมิตรนักวิจัยก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตรของประเทศไทย
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเกษตรสีเขียวและความมั่นคงทางด้านอาหาร มีการดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาขีดความสามารถในการผลิต การจัดการสินค้าเกษตร ความมั่นคงด้านอาหารและการพัฒนาทรัพยากรการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ สมดุล และยั่งยืน โดยร่างยุทธศาสตร์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร (พ.ศ. 2556 - 2559) ได้กำหนดยุทธศาสตร์ทั้งเรื่องการปรับตัวและการเก็บกักคาร์บอนและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลและองค์ความรู้ก๊าซเรือนกระจก และการสนับสนุนการปรับระบบการผลิตสู่เกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยจึงได้จัดสัมมนาดังกล่าวขึ้น
"เป็นโอกาสดีที่ทั้งหน่วยงานกำหนดนโยบายการวิจัยของประเทศ หน่วยงานให้ทุนวิจัย และหน่วยงานที่ดำเนินการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ รวมทั้งนักวิจัยก๊าซเรือนกระจกด้านนาข้าว ปศุสัตว์ และการจัดการดินเกษตรได้เข้าร่วมสัมมนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดลำดับความสำคัญการวิจัยก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตรของประเทศ การวิจัยภายใต้กรอบความร่วมมือ GRA ในแต่ละกลุ่มวิจัยตลอดจนความร่วมมือระหว่างประเทศด้านก๊าซเรือนกระจกเกษตรในกรอบอื่นๆ ต่อไป" เลขาธิการ กล่าว
ปัจจุบัน กรอบความร่วมมือ GRA เป็นกรอบความร่วมมือแบบสมัครใจปัจจุบันมีประเทศสมาชิก 33 ประเทศ เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลและเปลี่ยนองค์ความรู้ งานวิจัย และนักวิจัยรวมทั้งความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในเรื่องการวิจัยก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตรร่วมกัน