นายพิพัฒน์ เรืองนาม ผู้อำนวยการ ศูนย์ปฎิบัติการบริหารจัดน้ำ สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) แถลงว่า จากที่กรมอุตุนิยมวิทยารายงานข้อมูลว่า ในช่วงวันที่ 6-7 ต.ค.55 พายุโซนร้อน"เกมี" ทางทะเลจีนใต้ ซึ่งมีความเร็วสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง 65 กม./ชม. อยู่ทางทิศตะวันออกของเวียดนาม กำลังเคลื่อนที่เจ้าเวียดนามและอยู่ห่างจากประเทศไทย 1,661 กม. และพายุโซนร้อน "มาลิกซี" อยู่ทางฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของฟิลิปปินส์ ห่างจากประเทศไทย 4,906 กม.
ทั้งนี้ พายุโซนร้อนเกมีคาดว่าอาจจะเข้ามายังประเทศไทยในช่วง 5-8 ต.ค. ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกหนัก โดยในช่วงวันที่ 5 ต.ค.จะมีฝนตกทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ ส่วนวันที่ 6 ต.ค.จะเข้ามายังฝั่งตะวันออก ซึ่งจะมีผลกระทบต่อจ.ปราจีนบุรี และจ.สระแก้ว และวันที่ 7-8 ต.ค.จะส่งผลกระทบในส่วนพื้นที่ภาคกลาง จ.ฉะเชิงเทรา จ.ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร
"ในช่วงเวลาดังกล่าว อยากให้ประชาชนเฝ้าติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงติดตามสภาพการจราจรและการระบายน้ำในพื้นที่ต่างๆ ด้วย ลักษณะดังกล่าวจะส่งผลให้ฝนตกในกรุงเทพฯ ปริมาณฝนในช่วงวันที่ 8 ต.ค.คาดการณ์ว่าจะมากพอสมควร แต่ไม่มีลักษณะถล่มทลาย แต่ถือว่าหนักทีเดียว และพายุลุกนี้ถือเป็นพายุลูกแรกที่จะเข้าไทย" นายพิพัฒน์ กล่าว
ในส่วนการเตรียมการนั้น นายพิพัฒน์ กล่าวว่า กรมชลประทานได้มีการเตรียมเครื่องสูบน้ำไว้รองรับและกทม.อยู่ระหว่างเตรียมแผนจะรองรับปริมาณฝนตกและปริมาณน้ำที่สูงขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว
ส่วนแผนการบริหารจัดการน้ำในการเปิดประตูระบายน้ำนั้น กทม. ได้รายงานว่า ในภาพรวมกทม.ยังคงเปิดประตูระบายน้ำทุกประตู โดยในขณะนี้ในส่วนทิศตะวันตก เขตทวีวัฒนาระดับน้ำภายนอกสูงอยู่ที่ 1.30 เมตร ถ้ามีฝนตกลงมาในพื้นที่จะส่งผลให้อาจจะเกิดน้ำท่วม ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวทางกทม.แจ้งข้อมูลว่า อยู่ในระดับเฝ้าระวังเป็นพิเศษ หากฝนตกนลงมาอาจเกิดปัญหาน้ำท่วมได้ แต่ก็ยังคงเปิดประตูระบายน้ำในระดับ 10 ซม.
ขณะที่คลองสอง ระดับน้ำภายนอกสูง 1.19 เมตร มีการเปิดประตูระบายน้ำที่ความสูงระดับ 30 ซม. คลองแสนแสบ ระดับน้ำภายนอกอยู่ที่ 1.19 เมตร ถือเป็นระดับน้ำปกติ และเปิดประตูระบายน้ำที่ความสูง 30 ซม.เช่นเดียวกัน คลองประเวศ ระดับน้ำภายนอกอยู่ที่ 63 ซม. เปิดประตูระบายน้ำอยู่ที่ 30 ซม. ซึ่งทุกพื้นที่จะมีการระบายน้ำไปยังเจ้าพระยา แต่ในส่วนการระบายน้ำ หากปริมาณฝนตกเกิน 60 มม. อาจทำให้การระบายน้ำล่าช้าออกไปกว่า 1 ชม.
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยน้ำทะเลหนุนไม่ได้ส่งผลในช่วงพายุเข้า โดยจากรายงานข้อมูลช่วงวันที่ 1-15 ต.ค. ยังไม่มีภาวะน้ำทะเลหนุน แต่น้ำทะเลจะเริ่มหนุนสูงในช่วง 17-21 ต.ค. โดยวันที่ 18 ต.ค.จะหนุนสุงสุดที่ 1 เมตรกว่า แต่ในรอบปีนี้น้ำทะเลจะหนุนสูงสุดในเดือนพ.ย.
ด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการ กทม.กล่าวถึงกรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนกรุงเทพฯ อาจได้รับผลกระทบจากพายุดีเปรสชั่นในช่วงวันที่ 6-7 ต.ค.นี้ ซึ่งจะทำให้มีฝนตกหนักเกินกว่า 90 มิลลิเมตรว่า กทม.พร้อมทำงานอย่างเต็มที่ แต่จำเป็นต้องย้ำเพื่อความเข้าใจว่าหากปริมาณฝนตกเกิน 60 มิลลิเมตร ต้องขอเวลาระบายน้ำ 1-3 ชั่วโมง เนื่องจาก กทม.มีจุดเสี่ยงน้ำท่วมในพื้นที่กว่า 200 จุด แต่ร้อยละ 50 สามารถระบายน้ำในพื้นที่จนแห้งเป็นปกติภายใน 1 ชั่วโมง