"ธีระ"มั่นใจป้องกันพื้นที่นนท์-ฝั่งธนได้ หลังคันกั้นน้ำชั่วคราวคลองบางกรวยเสร็จ10ต.ค.

ข่าวทั่วไป Tuesday October 2, 2012 12:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังภายหลังการลงพื้นที่ตรวจติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างอาคารชลประทานริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกพร้อมด้วยนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บริเวณปากคลองบางกรวย อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อติดตามความก้าวหน้างานก่อสร้างคันกั้นน้ำชั่วคราวปากคลองบางกรวย ระยะทางประมาณ 1,100 เมตร เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยจากแม่น้ำเจ้าพระยาจะไหลเข้าสู่คลองบางกรวย ซึ่งเชื่อมกับคลองอ้อมนนท์ และคลองบางกอกน้อย เนื่องจากจุดตังกล่าวไม่มีคันกั้นน้ำป้องกันน้ำจากเจ้าพระยาไหลเข้าสู่คลองบางกรวย โดยคันกั้นน้ำดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 10 ตุลาคมนี้

ส่วนคันกั้นน้ำถาวรซึ่ง กบอ. ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 316 ล้านบาทเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ ก็จะเร่งรัดดำเนินการตามงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรต่อไป ขณะเดียวกัน กรมชลประทานยังได้ตั้งงบประมาณในการก่อสร้างประตูระบายน้ำคลองบางกรวยจำนวน 123 ล้านบาท รวมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 3 ลบ.ม /วินาที จำนวน 3 เครื่อง เพื่อสูบน้ำจากคลองบางกรวยออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยากรณีที่ปริมาณน้ำในคลองบางกรวยเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในส่วนของประตูระบายดังกล่าวจะแล้วเสร็จประมาณเดือนธันวาคม 2556

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯมั่นใจว่าในปีนี้คันกั้นน้ำชั่วคราวและบ่อก่อสร้างประตูระบายน้ำจะสามารถป้องกันปัญหาน้ำท่วมไหลเข้าพื้นที่นนทบุรีและฝั่งธนบุรีได้ ซึ่งจะมีระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 1,600 เมตร แบ่งเป็น คันกั้นน้ำชั่วคราวระยะทางจากปตร.บางกรวยไปเชื่อมกับปตร.คลองบางไผ่ระยะทาง1,100 เมตร และด้านล่างจากปตร.คลองบางกรวยเชี่อมกับคันกั้นน้ำของจังหวัดนนทบุรีที่มีอยู่แล้วอีกประมาณ 450 เมตร

สำหรับการติดตามสภาพอากาศและปริมาณฝนขณะนี้ จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่าขณะนี้มีบริเวณความกดอากาศสูงปกคลุมในบางพื้นที่แล้ว ส่งผลทำให้ร่องความกดอากาศจะพาดผ่านอยู่บริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน รวมทั้งพื้นที่ภาคตะวันออกจึงทำให้ยังเกิดฝนตกในช่วงนี้ไปอีกระยะ แต่คาดว่าจะเริ่มมีฝนที่เบาบางลงประมาณกลางเดือนตุลาคม สำหรับพายุดีเพรสชั่นที่เริ่มก่อตัว ทางกรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่าขณะนี้ยังไม่มีมีผลกระทบต่อประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตามมอบหมายให้กรมชลประทานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังต่อไปคือ ภาคใต้ ที่ร่องมรสุมจะพาดผ่าน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ