นายจิรชัย มูลทองโร่ย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า สคบ.เตรียมเสนอออกกฎหมายเพื่อควบคุมธุรกิจให้บริการพักผ่อนหรือท่องเที่ยวล่วงหน้าระยะยาว(ไทม์แชร์) ให้เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาของ สคบ.หลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้ประกอบการที่ชักจูงให้ชำระเงินค่าห้องพักของโรงแรมและรีสอร์ทต่างๆ ล่วงหน้า แต่เมื่อต้องการเข้าพักกลับไม่มีห้องพักให้ ซึ่งถอเป็นการกระทำที่เข้าข่ายหลอกลวง
"ผู้ร้องส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ถูกหลอกให้จ่ายเงินทำสัญญาระยะยาว แต่เมื่อถึงเวลาจะใช้สิทธิกลับไม่ได้ห้องพักหรือได้ห้องพักไม่ตรงตามที่ตกลง จะขอเงินคืนก็ไม่ได้ สคบ.จึงต้องเข้ามาควบคุมธุรกิจนี้ คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะสามารถประกาศเป็นข้อกฎหมายของ สคบ.ได้" นายจิรชัย กล่าว
สำหรับธุรกิจไทม์แชร์มีลักษณะที่ผู้ประกอบการนำห้องพักหรือห้องชุดหรือบ้านพักตามแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมาจัดสรรช่วงเวลาในการใช้ห้องพัก ซึ่งผู้ที่ต้องการห้องพักจะต้องสมัครเป็นสมาชิกระยะยาว 5-10 ปี หรือนานกว่านั้น ต้องเสียค่าใช้จ่ายล่วงหน้าโดยจะได้สิทธิเข้าพักปีละ 7 วันในช่วงเวลาใดก็ได้ โดยบริษัทที่บอกรับสมาชิกส่วนใหญ่แล้วจะไม่มีโรงแรมเป็นของตัวเอง แต่จะใช้วิธีการเช่าห้องพักของโรงแรมต่างๆ โรงแรมละ 20-30 ห้องในระยะยาว ส่วนมากเจ้าของตัวจริงจะให้ได้ไม่เกิน 3 ปี แต่ผู้ประกอบการจะบอกกับลูกค้าให้ทำสัญญานานกว่านั้น