นายสมชาย ใบม่วง รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา รักษาการอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.) ได้หารือถึงการเตรียมความพร้อมรับมือพายุโซนร้อนแกมีที่จะพัดเข้าประเทศไทยช่วงวันที่ 5-8 ตุลาคมนี้ ซึ่งขณะนี้พายุโซนร้อนแกมีพัฒนาความรุนแรงขึ้นจากความเร็วลมสูงสุดใกล้จุดศูนย์กลางประมาณ 85 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และคาดว่าจะขึ้นฝั่งทางตอนกลางของเวียดนามในช่วงบ่ายของวันที่ 6 ตุลาคมเป็นต้นไป ก่อนจะเคลื่อนผ่านประเทศกัมพูชา และลาวตามลำดับ
ทั้งนี้พายุโซนร้อนเกมี่จะเข้าสู่ภาคตะวันออก ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางของประเทศไทยในวันที่ 7-8 ตุลาคมนี้ ก่อนจะพาดผ่านไปยังเมืองมะระบะ ประเทศพม่า ในวันที่ 9 ตุลาคมต่อไป ซึ่งประเทศไทยจะมีผลกระทบจากพายุโซนร้อนแกมี ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม ส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและหลายจังหวัดในภาคกลาง นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อภาคใต้ฝั่งตะวันตกหลายจังหวัด จึงฝากเตือนชาวเรือในแถบทะเลอันดามัน อ่าวไทยตอนบน ให้ระวังคลื่นลมแรง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง และเดินเรือด้วยความระมัดระวัง ซึ่งทางกรมอุตุนิยมวิทยาจะติดตามพายุลูกนี้ตลอด 24 ชั่วโมง
ด้านนายเลิศไพโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า เขื่อนหลักๆ ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังสามารถรองรับน้ำได้ แต่ภาคตะวันออกจำเป็นต้องพร่องน้ำออกเพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนจากพายุแกมี ส่วนแม่น้ำสายหลักก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถรองรับน้ำได้ ขณะที่ทุ่งเจ้าพระยาทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกได้มีการพร่องน้ำอยู่ตลอด ซึ่งฝั่งตะวันออกจะระบายออกผ่านแม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนลงสู่อ่าวไทย ส่วนฝั่งตะวันตกจะระบายผ่านแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนลงสู่อ่าวไทย
ขณะที่นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าในแต่ละจังหวัด และทุกอำเภอ ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงให้มีการปฏิบัติการเตรียมความพร้อมตามแผนเผชิญเหตุ และเร่งฟื้นฟูความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน ซึ่งทุกหน่วยงานมีความพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับการเตรียมพร้อมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะเรื่องการระบายน้ำในช่วงที่มีฝนตกหนัก นายวัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ได้ประสานส่วนราชการทุกส่วนอย่างใกล้ชิดเพื่อดูแลพื้นที่เศรษฐกิจของ กทม.โดยเฉพาะรอบนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ได้เร่งระบายน้ำออกจากคลองบึงบัวพร้อมให้นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังเสริมคันกั้นน้ำให้แข็งแรง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำในทุกจุดเสี่ยง พร้อมประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อแจ้งให้ประชาชนเลี่ยงเส้นทางน้ำท่วม
ส่วนการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเป็นอำนาจของผู้ว่าฯ กทม.จะตัดสินใจ แต่ทาง กทม.จะประสานกับกรมชลประทาน เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์กับการบริหารจัดการน้ำในภาพรวม ขณะที่ปัญหาเรื่องมวลชนในเขตรอยต่อระหว่าง กทม.และปริมณฑล จะเป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการเขตที่จะลงไปชี้แจงทำความเข้าใจ