ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้วางแนวทางในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก และพื้นที่ต่อเนื่องระหว่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์จากการที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ผลกระทบจากพายุโซนร้อน “เกมี" ว่า พายุลูกนี้จะส่งผลต่อประเทศไทย ในช่วงวันที่ 5-8 ตุลาคม 2555 ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนหนาแน่นเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่กับมีลมแรง โดยจะเริ่มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกก่อน จากนั้นภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะได้ผลกระทบในระยะต่อไป
สำหรับในพื้นที่ ภาคตะวันออก ในช่วงวันที่ 3 — 8 ต.ค. 55 จะบริหารจัดการน้ำในเขื่อนต่างๆ อาทิ เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก จะพร่องน้ำในอัตราวันละ 250,000 ลูกบาศก์เมตร เขื่อนคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา จะพร่องน้ำในอัตราวันละ 2.50 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนประแสร์ จ.ระยอง จะพร่องน้ำในอัตราวันละ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร
ส่วนในพื้นที่ต่อเนื่องระหว่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กรมชลประทาน ได้วางแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ โดยจะทำการปิดประตูระบายน้ำพระศรีเสาวภาคต่อไป เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้าสู่พื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานครตอนล่าง พร้อมกับการสูบน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเต็มศักยภาพของเครื่องสูบน้ำที่มีอยู่ ในส่วนของการสูบน้ำในทุ่งเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกลงสู่แม่น้ำนครนายกและแม่น้ำบางปะกงที่สถานีสูบน้ำคลองหกวาสายล่าง สถานีสูบน้ำหนองจอก สถานีสูบน้ำประเวศน์ และสถานีสูบน้ำอาคารอัดน้ำกลางคลองรังสิต 12 — 13 นั้น กรมชลประทาน พร้อมที่จะเดินเครื่องสูบน้ำอย่างเต็มศักยภาพเช่นกัน
ในส่วนของสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือวันนี้ (4 ต.ค.) ที่เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 476 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 24 ของความจุอ่างฯ ยังรับน้ำได้อีกกว่า 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 145 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯ ยังรับน้ำได้อีกกว่า 160 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนมูลบน จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 43 ของความจุอ่างฯ ยังรับน้ำได้อีกกว่า 80 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 75 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 62 ของความจุอ่างฯ ยังรับน้ำได้อีกกว่า 40 ล้านลูกบาศก์เมตร
อนึ่ง กรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานทุกโครงการ ในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ให้เตรียมความพร้อมทั้งทางด้านกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักร เครื่องมือ และเครื่องสูบน้ำ ที่พร้อมจะใช้งานได้อย่างทันต่อเหตุการณ์ พร้อมทั้งให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดต่อไปแล้ว