นายพูลศักดิ์ เศรษฐนันท์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมเตรียมการและหาแนวทางป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ใน 70 จังหวัด โดยได้พิจารณาแผนงานและโครงการที่เกี่ยวข้องกับการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ของหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงแรงงาน
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาข้อเสนอการจัดทำโมเดลที่จำลองสถานการณ์เมื่อมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ในวันที่ 1 ม.ค.56 ซึ่งคาดว่าผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) จะได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ประกอบการขนาดใหญ่ จึงต้องเตรียมการใน 4 ส่วน ได้แก่ 1.การอำนวยการและประสานงาน เพื่อดูแลกลุ่มเสี่ยง พื้นที่เสี่ยง 2.การเฝ้าระวังมีการบูรณาการหน่วยงานต่างๆ เพื่อทราบข้อมูลเชิงลึก หากพบสัญญาณเตือนเหตุ เช่น การเลิกจ้าง หรือการขาดสภาพคล่อง ก็ต้องนำมาตรการต่างๆ ที่นำเสนอไว้ 27 มาตรการให้ผู้ได้รับผลกระทบสามารถเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือให้ทั่วถึง
3.การป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหรือผลกระทบต่างๆ เช่น การประสานกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย ให้ทราบข้อมูลผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกเพื่อเข้าตรวจเยี่ยมสถานประกอบกิจการ และ 4.การแก้ไขปัญหา เมื่อเกิดผลกระทบแล้ว โดยการประชาสัมพันธ์ทุกระดับในมาตรการการให้ความช่วยเหลือต่างๆ เช่น การหาแหล่งเงินทุน การพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อเพิ่มผลผลิต การประสานหน่วยงานอื่นๆ ในการดูแลการชุมนุมประท้วงต่างๆ เป็นต้น
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้เสนอแนวความคิดในการกำหนดโมเดลสถานการณ์ที่มีความน่าจะเป็นว่า ควรใช้กรอบด้านเวลาและสถานการณ์มาเป็นตัวตั้งว่าในสถานการณ์การปรับค่าจ้าง 300 บาท ในวันที่ 1 ม.ค.56 ควรกำหนดกรอบกว้างๆ ไว้ว่า เป็นสถานการณ์ก่อนเกิด ขณะเกิด และหลังเกิด แล้วนำกิจกรรมต่างๆ มาพิจารณาในรายละเอียดว่ามีอะไรบ้างที่จะเข้าไปสอดแทรกในระหว่างเหตุการณ์นั้นๆ ซึ่งจะครอบคลุมถึงมาตรการต่างๆ ได้อีกด้วย โดยอาศัยข้อมูลจาก "ศูนย์โปร่งใส" ของกระทรวงแรงงานที่รับเรื่องราวร้องทุกข์ต่างๆ มาใช้พิจารณา
สำหรับมาตรการต่างๆ ที่ประชุมฯ ได้จัดทำร่างข้อเสนอเพื่อกำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2556 และเพิ่มขีดความสามารถธุรกิจ SMEs ไว้ 6 กลุ่มหลัก 27 มาตรการตามที่นายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ที่เกี่ยวข้องได้เสนอไว้จากการจัดประชุมก่อนหน้านี้คือ มาตรการลดภาระต้นทุนจากค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น, มาตรการยกระดับผลิตภาพแรงงาน (Productivity of Labour), มาตรการทางการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบกิจการ, มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของ SMEs, มาตรการเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบกิจการผ่านการใช้จ่ายภาครัฐ และมาตรการช่วยค่าครองชีพให้ลูกจ้างและประชาชนทั่วไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ให้ข้อเสนอแนะว่ามาตรการเหล่านี้ถ้ารัฐบาลเห็นชอบจะดำเนินการควรประกาศให้ทราบทั่วกันล่วงหน้าก่อนวันที่ 1 ม.ค.56 และรัฐบาลควรจัดประชุมชี้แจงนายจ้าง ลูกจ้างให้ทราบถึงรายละเอียดของทุกมาตรการที่ประกาศใช้ในคราวเดียวกันทุกมาตรการ ไม่ควรจัดประชุมชี้แจงแยกเป็นรายหน่วยงาน หรือรายมาตรการ เพราะอาจรับทราบไม่ครบถ้วนเห็นเป็นภาพรวม
อนึ่ง เมื่อวานนี้(11 ต.ค.) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) รายงานว่า ปัจจัยดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จำนวนผู้ว่างงานที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีปี 56 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 10% หรือราว 160,000-170,000 คน จากปัจจุบันที่มีจำนวน 145,000 คน