นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง จากผลสำรวจภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะผู้นำประเทศ และก้าวต่อไปของประเทศไทยในสายตาประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัด จำนวนทั้งสิ้น 2,184 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 1 — 13 ตุลาคม 2555 พบว่าภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพิ่มสูงขึ้นในทุกตัวชี้วัด โดยดัชนีความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรีที่เพิ่มขึ้นสูงที่สุดคือ ร้อยละ 63.7 ระบุความเป็นตัวของตัวเอง รองลงมาคือ ร้อยละ 60.9 ระบุเป็นคนรุ่นใหม่ ร้อยละ 58.9 ระบุได้รับการยอมรับภายในประเทศและต่างประเทศ ร้อยละ 57.1 ระบุมีความคิดสร้างสรรค์ ร้อยละ 55.1 ระบุมีความเสียสละ ร้อยละ 54.0 ระบุมีความโอบอ้อมอารี ร้อยละ 53.7 ระบุมีวิสัยทัศน์ ร้อยละ 53.5 ระบุประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ร้อยละ 52.5 ระบุกล้าคิดกล้าตัดสินใจ ร้อยละ 51.9 ระบุมีความสุภาพอ่อนโยน ร้อยละ 51.3 ระบุมีความซื่อสัตย์สุจริต ร้อยละ 50.8 ระบุมีจริยธรรมทางการเมือง ร้อยละ 49.8 ระบุรวดเร็วฉับไวในการแก้ไขปัญหา ร้อยละ 49.6 ระบุมีความยุติธรรม ร้อยละ 49.2 ระบุแก้ปัญหา(บริหาร)ความขัดแย้งได้ดี ร้อยละ 47.8 มีความอดทนอดกลั้น รู้จักควบคุมอารมณ์ และร้อยละ 44.6 มีความรู้ความสามารถเพิ่มสูงขึ้น ตามลำดับ
สำหรับก้าวต่อไปของประเทศไทยที่อยากเห็น อยากได้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.8 ระบุทำให้คนไทยรากหญ้ามีรายได้เพิ่มขึ้น คนรวยใส่ใจคนจนให้มากขึ้น รองลงมาคือ ร้อยละ 80.3 ระบุกระจายทรัพยากรให้โอกาสประชาชนทั่วไปได้ครอบครองเป็นเจ้าของมากขึ้น ร้อยละ 79.9 ระบุหยุดสร้างเงื่อนไขขัดแย้งรุนแรงของคนในชาติ อยากเห็นนักการเมืองปรองดองกันให้ชาวบ้านเห็น ร้อยละ 75.4 ระบุยึดกระบวนการยุติธรรมในการคลี่คลายปัญหาบ้านเมือง และร้อยละ 73.3 ระบุเพิ่มความพร้อมให้คนไทยและเจ้าหน้าที่รัฐเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนเต็มรูปแบบ ตามลำดับ
ที่น่าสนใจคือ เมื่อสอบถามถึงกระทรวงที่อยากเห็นอยากให้เกิดขึ้นในอนาคต พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.4 อยากเห็นประเทศไทยมีกระทรวงกีฬา เพราะช่วยจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอในการพัฒนานักกีฬาไทยสู่กีฬาระดับโลก มีทรัพยากรที่เพียบพร้อมในการฝึกเด็กและเยาวชนไทย สร้างโอกาสและความเป็นธรรมกับกลุ่มประชาชนที่มีความสามารถด้านกีฬาทุกหมู่เหล่ามากขึ้น มีเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาที่ครบถ้วนสมบูรณ์ให้นักกีฬาได้มากยิ่งขึ้น เป็นต้น
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.5 อยากเห็นประเทศไทยมีกระทรวงอาหาร เพราะจะมีหน่วยงานรัฐโดยตรงที่ช่วยทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของโลก ประเทศไทยเหมาะที่จะเป็นคลังอาหาร วัตถุดิบอุดมสมบูรณ์ มีการจัดสรรทรัพยากร ช่วยควบคุมลดความเสี่ยงในความปลอดภัยด้านอาหารให้กับประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยทำให้ประเทศไทยก้าวสู่ความเป็นเลิศด้านอาหารและทำให้เกิดความเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนอย่างยั่งยืน เป็นต้น
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงนักการเมืองที่ช่วยเหลือคนยากจนให้มีชีวิตที่ดีขึ้นมากที่สุด พบว่า อันดับแรกหรือ ร้อยละ 22.4 ระบุ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร รองลงมาคือ ร้อยละ 21.2 ระบุ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ร้อยละ 14.3 ระบุ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 7.8 ระบุ ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง ร้อยละ 6.5 ระบุ นายชวน หลีกภัย ร้อยละ 3.8 ระบุ นายบรรหาร ศิลปอาชา และร้อยละ 5.1 ระบุอื่นๆ ได้แก่ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 18.9 ระบุไม่มีนักการเมืองคนใดเลย
ส่วนความเห็น ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้งทั่วประเทศ พรรคการเมืองใดที่ตั้งใจจะเลือก ผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 52.7 จะเลือกพรรคเพื่อไทย รองลงมาคือ ร้อยละ 35.9 จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ และร้อยละ 11.4 จะเลือกพรรคอื่นๆ เช่น พรรคชาติไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคพลังชล และพรรคมาตุภูมิ เป็นต้น
ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยภายใต้การนำของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะมีสิ่งใหม่ที่ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเกิดขึ้นได้อีกมาก ถ้า “หน้าต่างนโยบาย หรือ Policy Window" เปิดรับกระแสผลวิจัยครั้งนี้ เพราะดัชนีความเป็นผู้นำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ในฐานะผู้นำประเทศเพิ่มสูงขึ้นในทุกตัวชี้วัด และที่สูงที่สุดคือ ความเป็นตัวของตัวเองของนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจที่ไม่ตกอยู่ภายใต้ “อคติแห่งนครา" ดังนั้น ถ้านายกรัฐมนตรีสามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างแท้จริงโดยมุ่งมั่นทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง ความสงบสุขและความปรองดองของคนในชาติน่าจะเกิดขึ้นโดยพลังขับเคลื่อนของนายกรัฐมนตรีเป็นกำลังสำคัญได้